วิทยา-สามารถ คนดังเพื่อไทย ร่วงผล็อยหมด สุราษฎร์ปฏิเสธ พลพรรคเทือก
ผลคะแนนเลือกตั้งนิ่งแล้ว พท. ยังแกร่งที่อีสาน แต่ก็โดนทะลวงโบ๋หลายจุด โคราช พปชร.ฟาดไป 6 เก้าอี้ “ปรีชา” สิ้นท่าสอบตก ส.ส.เลย ขอนแก่นแตก พปชร.-อนค.ยื้อไปคนละเขต เหนือเพื่อไทยโดน พปชร.ยกเค้าที่กำแพงเพชร-เพชรบูรณ์ ส่วนที่แพร่อนาคตใหม่ซิวเรียบ ภาคกลาง พปชร.คว้าแชมป์ยกจังหวัดที่สระแก้ว-ปากน้ำ ช้างล้ม “สะสมทรัพย์” เหลือแค่ 1 “เฉลิมชัย” แม่ทัพ ปชป.ร่วงสุดช็อก ภาคตะวันออก อนาคตใหม่-พปชร.แรงสุดๆ ภาคใต้ ปชป.เจ๊งยับเหลือแค่ 22 เก้าอี้ เสาไฟฟ้าหักโค่นที่ภูเก็ต-กระบี่-ระนอง พปชร.บุกยึดนครศรีฯ-สงขลา “ชวน” เจอลูบคมเสียที่นั่งตรัง “นิพิฏฐ์” ร่วงผล็อย 3 จังหวัดชายแดนประชาชาติเจ๋ง กทม.ล็อกถล่ม ปชป.สูญพันธุ์ พปชร.-อนค.ผงาดเหลือเชื่อ กกต.สรุปเขต พท.แชมป์ 137 ที่นั่ง พปชร.กวาดไป 97 ภท. 39 ปชป. 33 หอการค้าห่วงตั้งรัฐบาลช้า หุ้นไทยแดงเถือก แต่ของ “เสี่ยหนู” ดีดขึ้น กกต.ออกโรงแจงข้อมูลสับสนเพราะสื่อคิดกันเอาเอง
ผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 อย่างไม่เป็น ทางการที่ออกมา สร้างความฮือฮาตะลึงงันไปทั้ง ประเทศ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ภาวะตกต่ำจนน่าใจหาย ได้ ส.ส.น้อยเกินกว่าที่คาดหมายมาก ภาคใต้เสาไฟฟ้าล้มระเนนระนาด ส่วน กทม. สูญพันธุ์ จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนล้นหลามถล่มทลายในสนามเลือกตั้งครั้งแรก เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐที่ทำคะแนนพุ่งขึ้นระดับสูงสุดท้าทายพรรคเพื่อไทยได้อย่างสูสีคู่คี่
พท.ยังแกร่งยึดอีสาน 84 ที่นั่ง
สำหรับผลการเลือกตั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด มีเก้าอี้ ส.ส.ให้ชิงกัน 116 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยยังแข็งแกร่ง กวาดจำนวน ส.ส.ไปได้มากที่สุด 84 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 16 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 11 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง และพรรคอนาคตใหม่ 1 ที่นั่ง โดยพรรคเพื่อไทยสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้ 10 จังหวัดได้แก่ กาฬสินธุ์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี ขณะที่พรรคภูมิใจไทยสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้ที่ จ.บุรีรัมย์ 8 ที่นั่ง เป็นการ กลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง หลังปี 2554 เสียที่นั่งให้พรรคเพื่อไทยไป 2 เขต
...
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐสามารถแทรกเข้ามาปักธงได้ที่ จ.นครราชสีมาถึง 6 ที่นั่ง ชัยภูมิ 2 ที่นั่ง และ จ.ขอนแก่น สุรินทร์ อุบลราชธานี อย่างละ 1 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง ที่ จ.อุบลราชธานี พรรคชาติพัฒนา เหลืออยู่ 1 ที่นั่ง ที่ จ.นครราชสีมา พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง และพรรคอนาคตใหม่ 1 ที่นั่ง
“รัตนเศรษฐ” ครองโคราช 3 เก้าอี้
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งในจังหวัดภาคอีสานที่น่าสนใจอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่ กกต.นับคะแนนไปแล้ว 95% อาทิ จ.นครราชสีมา ที่คนของตระกูลรัตนเศรษฐ ทั้ง 3 คน สามารถยึดเก้าอี้ ส.ส.ได้ทุกคนได้แก่ ที่เขต 4 นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ เขต 6 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ เขต 7 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส่วนเขตอื่นๆ เขต 1 นายเกษม ศุภรานนท์ พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นายวัชรพล โตมรศักดิ์ พรรคชาติพัฒนา เขต 3 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง พรรคเพื่อไทย เขต 5 นายโกศล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย เขต 8 นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ พรรคพลังประชารัฐ เขต 9 นายอภิชา เลิศพชรกมล พรรคภูมิใจไทย เขต 10 นายพรชัย อำนวยทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 11 นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม พรรคพลังประชารัฐ เขต 12 นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ พรรคเพื่อไทย เขต 13 นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ พรรคภูมิใจไทย เขต 14 นายสุชาติ ภิญโญ พรรคเพื่อไทย
“ปรีชา” หมดท่าสอบตก ส.ส.เลย
ส่วนที่ จ.เลย ที่พรรคพลังประชารัฐใช้ยุทธศาสตร์ดึงตัวนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลยและทีมงานนายปรีชาไปอยู่ในสังกัดทั้ง 3 คน และเป็นพื้นที่เกรดเอที่พรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าจะกวาด ส.ส.ยกจังหวัด ผลปรากฏว่าผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐแพ้หมดรูปทั้ง 3 เขต โดยเขต 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทย มีคะแนนมาเป็นที่ 1 ชนะนายวันชัย บุษบา พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ พรรคเพื่อไทยชนะนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ภริยานายปรีชา และเขต 3 นายธนยศ ทิมสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งอย่างขาดลอย ได้คะแนนร่วม 38,000 คะแนน ทิ้งขาดนายปรีชา 10,000 กว่าคะแนนที่หล่นไปอยู่เป็นที่ 3
พปชร.ชนะหืดจับปักธงอุบลฯ
จ.อุบลราชธานี มี 10 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ เข้าไปปักธงสำเร็จแค่เขตเดียว ในเขต 6 จากนายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ที่เฉือนนายพิสิษฐ์ สันตพันธุ์ พรรคเพื่อไทย แค่ปลายจมูก 300 คะแนน ส่วนเขตอื่นๆอีก 9 เขต แต่ละพรรคยังแบ่งเก้าอี้กันไป โดยเพื่อไทยได้ไป 7 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง จากนายวุฒิพงษ์ นามบุตร เขต 2 และ น.ส.บุณย์ธิดา สมชัย เขต 8 ส่วนที่ จ.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา ได้สมหวังที่เขต 1 หลังจากนายอนุรักษ์ จุรีมาศ เอาชนะแชมป์เก่า นายวราวงษ์ พันธ์ศิลา พรรคเพื่อไทย ได้เป็น ส.ส.อีสานเพียงคนเดียวของพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนอีก 6 เขตที่เหลือพรรคเพื่อไทยเก็บชัยชนะได้ทั้งหมด โดยที่เขต 3 นายเอกภาพ พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ดหลายสมัย ตัวความหวังของพรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถโค่นแชมป์เก่า นายนิรมิต สุจารี พรรคเพื่อไทยได้
พท.เชียงใหม่เหนียวยกจังหวัด
สำหรับพื้นที่เลือกตั้งภาคเหนือ 16 จังหวัดอดีตพรรคเพื่อไทยยึดเก้าอี้ ส.ส.มากที่สุดแต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยรักษาฐานที่มั่นได้แค่เพียง 29 เขต พรรคพลังประชารัฐ 23 เขต พรรคอนาคตใหม่ 5 เขต พรรคภูมิใจไทย 2 เขต และพรรคประชาธิปัตย์ 1 เขต ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทยยังคงรักษาฐานที่มั่นเหนี่ยวแน่นทั้ง 9 เขต สำหรับ จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทยถูกเจาะไข่แดงได้กลับมาเพียง 5 เขตเสียให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่แจ้งเกิดใน 2 เขตคือนายเอกภพ เพียรพิเศษ ที่ล้มแชมป์เก่านายสามารถ แก้วมีชัย จากเพื่อไทย ลงได้สำเร็จและนายพีรเดช คำสมุทร เฉือนนายอิทธิเดช แก้วหลวง จากเพื่อไทยเช่นกัน
เมืองกล้วยไข่ พปชร.ยกเค้า
ขณะที่ จ.กำแพงเพชร นายไผ่ ลิกค์ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ นายปริญญา ฤกษ์หร่าย นายอนันต์ ผลอำนวย จากพรรคพลังประชารัฐกวาดยกจังหวัด ส่วนที่ จ.ตาก พรรคพลังประชารัฐนำไป 2 เขตแบ่งแต้มให้พรรคประชาธิปัตย์ไป 1 เขต ด้าน จ.นครสวรรค์ มี 6 เขต พรรคพลังประชารัฐกวาดไป 4 เขตนำโดยนายภิญโญ นิโรจน์ นายวีระกร คำประกอบ นายสัญญา นิลสุพรรณ และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส่วนนายมานพ ศรีผึ้ง พรรคภูมิใจไทย และนายทายาท เกียรติชูศักดิ์ พรรคเพื่อไทย แบ่งไปคนละ 1 เขต ด้าน จ.น่าน พรรคเพื่อไทยยังรักษาแชมป์ได้ทั้ง 3 เขตนำโดยนายสิรินทร รามสูต นายชลน่าน ศรีแก้ว นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ส่วนที่ จ.พิจิตร พรรคเพื่อไทยต้องเสียเก้าอี้ให้กับพรรคพลังประชารัฐสามารถกวาดยกจังหวัดทั้ง 3 เขต
มะขามหวานก็กวาดทั้งจังหวัด
ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ในเขต 1 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์สอบตกอย่างไม่น่าเชื่อ ถูกนายปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคอนาคตใหม่สอยเก้าอี้ไปครองสบายๆ ส่วนเขต 2 และเขต 4 ยังเป็นของพรรคเพื่อไทย เขต 3 นายอนุชา น้อยวงค์ และ เขต 5 นายมานัส อ่อนอ้าย พรรคพลังประชารัฐได้ไปครอง
ส่วนเมืองมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐล้มแชมป์กวาดเรียบทั้ง 5 เขต รวมถึง จ.แม่ฮ่องสอน นายปัญญา จีนาคำ พรรคพลังประชารัฐคว้าชัยชนะไปครอง ส่วนในพื้นที่ จ.ลำปาง เมืองรถม้า พรรคเพื่อไทยเหมารวดทั้ง 4 เขต ยังรักษาแชมป์เหมือนเดิมทั้งนายกิตติกร โล่ห์สุนทร นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ และนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ รวมถึงที่ จ.ลำพูน เพื่อไทยชนะขาดทั้ง 2 เขตเช่นกัน
อนค.ส้มหล่นที่แพร่แจ้งเกิด 2 เขต
ส่วนที่ จ.สุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ หมายมั่นกวาดยกจังหวัดแต่ก็ฝันค้างได้เพียงแค่ 2 เขต จากนางพรรณศิริ กุลนาถศิริ และนายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง โดยเขต 3 นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ พรรคภูมิใจไทย คว้าพุงปลาไปกินที่สำคัญ จ.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทยรักษาแชมป์ได้ทั้ง 2 เขตซึ่งเป็นของนายกนก ลิ้มตระกูล และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส่วน จ.พะเยา พรรคพลังประชารัฐได้มา 2 เขต โดยในเขต 1 นายธรรมนัส พรหมเผ่า กับนายจีรเดช ศรีวิราช เขต 3 ส่วนเขต 2 เป็นของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ พรรคเพื่อไทย ส่วน จ.แพร่ พรรคอนาคตใหม่กวาดเรียบทั้ง 2 เขต คือนายเอกการ ซื่อทรงธรรม และนายกฤติดนัย สันแก้ว โดยทั้งคู่ได้รับอานิสงส์จากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบและเทคะแนนให้
พปชร.ซิวแชมป์ภาคกลาง 36 ที่นั่ง
สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ขณะการนับคะแนนไปแล้วร้อยละ 94 นั้น ปรากฏว่าภาคกลาง 26 จังหวัด 92 เขต มีจำนวน ส.ส.เขตในแต่ละพรรค ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐได้ 36 คน พรรคอนาคตใหม่ 15 คน พรรคเพื่อไทย 14 คน พรรคภูมิใจไทย 13 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 5 คน โดย จ.นครนายก นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ชนะนายสมพงษ์ สายทอง จากพรรคพลังประชารัฐ จ.สระบุรี เขต 1 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นายสมบัติ อำนาคะ พรรคพลังประชารัฐ เขต 3 นายองอาจ วงษ์ประยูร พรรคเพื่อไทย
“ประภัตร” ล้ม “จองชัย” ตามคาด
จ.อุทัยธานี เป็นชัยชนะของพรรคภูมิใจไทย ที่ย้ายมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา โดยในเขต 1 นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ และ เขต 2 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ด้วยคะแนนสูงแบบถล่มทลาย จ.สุพรรณบุรี 4 เขต พรรคชาติไทยพัฒนาเหมาหมดตามคาด เขต 1 นายสรชัด สุจิตต์ เขต 2 นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เขต 3 นายประภัตร โพธสุธน เอาชนะนายจองชัย เที่ยงธรรม ขาดลอย เขต 4 นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ล้มแชมป์เก่านายสหรัฐ กุลศรี จากค่ายเพื่อไทย ส่วน จ.อ่างทอง นายภราดร ปริศนานันทกุล ยังไว้ลายแชมป์เก่า
“สะสมทรัพย์”โดนโค่นเหลือแค่ 1
สำหรับ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นฐานของตระกูล “สะสมทรัพย์” ที่เพิ่งย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาที่หมายมั่นปั้นมือจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้เป็นกอบเป็นกำ แต่หนนี้ต้องเจอกับปรากฏการณ์ช้างล้ม เพราะเบอร์ใหญ่ของตระกูลสะสมทรัพย์ ทั้งเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และนายอนุชา สะสมทรัพย์ เหลือเพียงหนึ่งเดียวคนนี้ที่เขต 2 คือนายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ ที่ฝ่าด่านมาได้เท่านั้น โดยเขต 1 พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา พรรคอนาคตใหม่ เขต 4 นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ พรรคพลังประชารัฐ เขต 5 นายจุมพิตา จันทร์ขจร พรรคอนาคตใหม่
“เสี่ยต่อ” ช็อกโดนเบียดร่วง
จ.เพชรบุรี เป็นอีกจังหวัดที่พรรคพลังประชารัฐ เฉือนชนะแชมป์เก่าทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเขต 1 นายกฤษณ์ แก้วอยู่ เขต 2 นายสาธิต อุ๋ยตระกูล เขต 3 นายสุชาติ อุสาหะ ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คีย์แมนพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน พ่ายอย่างคาดไม่ถึงให้ กับนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทย
ส่วนอีก 2 เขตคือ นายมนตรี ปาน้อยนนท์ และนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ยังยื้อเก้าอี้ไว้ได้อย่างหืดจับ จ.สมุทรสงคราม เจ๊หอย รังสิมา รอดรัศมี จากพรรคประชาธิปัตย์ ยังครองใจคนสมุทรสงครามอย่างเหนียวแน่น จ.สมุทรสาคร พรรคอนาคตใหม่ ชิงเก้าอี้ ส.ส.ในเขตเมืองทั้งเขต 1 คือ นายทองแดง เบ็ญจะปัก และเขต 2 นายสมัคร ป้องวงษ์ ยกเว้นเขต 3 เป็นของ น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ จากพรรคพลังประชารัฐ
ภาคตะวันออก “อนาคตใหม่” แรงจัด
จ.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายไปยังค่ายพลังชลของนายสนธยา คุณปลื้ม ได้ไป 5 เขต จาก 8 เขต โดยมีพรรคอนาคตใหม่แบ่งไป 3 เขต โดยเฉพาะนายจรัส คุ้มไข่น้ำ เฉือนชนะนายอิทธิพล คุณปลื้ม ไปอย่างตื่นเต้น รวมถึงเขต 7 นายกวินนาถ ตาคีย์ ยังสามารถเฉือนชนะนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จ.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ยกจังหวัดตามเป้า 4 เขต มีนายสมพงษ์ โสภณ จากพรรคพลังประชารัฐ เบียดแทรกเข้ามาได้ในเขต 4 ส่วนใน 3 เขต ยังคงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์คือ เขต 1 นายสาธิต ปิตุเตชะ เขต 2 นายบัญญัติ เจตนจันทร์ เขต 3 นายธารา ปิตุเตชะ ส่วน จ.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ซิวหมดทั้ง 3 เขต เฉือนชนะตระกูล “อนามพงษ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ไปได้อย่าง
สุดช็อก เขต 1 พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา เขต 2 นายจารึก ศรีอ่อน เขต 3 น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน จ.ตราด นายศักดินัย นุ่มหนู จากพรรคอนาคตใหม่ ผู้สมัครฯโนเนมเล่นงานนายธีระ สลักเพชร จากพรรคประชาธิปัตย์ แชมป์ตลอดกาลจนอยู่หมัด โดดเข้ามาเป็น ส.ส.ที่นี่ได้
“ป๋าเหนาะ”สะอื้นแพ้หลุดลุ่ย
จ.ฉะเชิงเทรา 4 เขต แบ่งกันครึ่งต่อครึ่ง ระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับพรรคพลังประชารัฐ โดยเขต 1 และเขต 4 ของพรรคอนาคตใหม่ และเขต 2 และ 3 เป็นของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเขต 3 นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ เฉือนชนะคู่แข่งพรรคเพื่อไทยไปได้ จ.ปราจีนบุรี ฐานของ “โกทร” สุนทร วิลาวัลย์ พรรคภูมิใจไทยกวาดได้หมดทั้งจังหวัด ส่วนที่ จ.สระแก้ว บรรดาหลานของนายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น ที่ย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนถล่มทลาย ในทุกเขต โดยเขต 1 นายฐานิสร์ เทียนทอง ได้คะแนน 60,422 คะแนน ชนะนายสนธิเดช เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ที่ได้เพียง 18,240 คะแนน เขต 2 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ ได้ 50,969 คะแนน ชนะ พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น จากพรรคเพื่อไทย 20,899 คะแนน เขต 3 นายสุรศักดิ์ ชินวรรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เฉือนชนะนายสรวงศ์ เทียนทอง ลูกชายนายเสนาะไปเกือบหมื่นคะแนน
พท.ปากน้ำเจ๊งยกจังหวัด
ส่วน จ.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นเขต 1 คือ นางเจริญ เรี่ยวแรง จากพรรคพลังประชารัฐ นอกนั้นสอบผ่านทั้งหมด คือ เขต 2 นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ เขต 3 นายมานะศักดิ์ จันทรประสงค์ เขต 4 นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร เขต 5 นายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ เขต 6 นายภณณัฏฐ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ จ.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทยยังคงครองเก้าอี้ส่วนใหญ่เช่นกัน โดยมีพรรคอนาคตใหม่และพรรคภูมิใจไทยเข้ามาแซม โดยเขต 1 คือ นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายศุภชัย นพขำ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายอนาวิล รัตนสถาพร พรรคอนาคตใหม่
เขต 4 นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ พรรคเพื่อไทย เขต 5 น.ส.พรพิมล ธรรมสาร พรรคเพื่อไทย เขต 6 นายพิษณุ พลธี พรรคภูมิใจไทย จ.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐยกทัพเข้ามาแย่งชิงเก้าอี้จากพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยได้ทั้งหมด 7 เขต จากเดิมที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ถึง 5-6 ที่นั่ง แต่ต้องพ่ายแพ้ โดยเขต 1 นายอัครวัฒน์ อัศวเหม เขต 2 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร เขต 3 น.ส.ภริม พูลเจริญ เขต 4 นายวุฒินันท์ บุญชู เขต 5 นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก เขต 6 นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ เขต 7 น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ
ถิ่นสะตอ ปชป.แพ้ยับได้แค่ 22 ที่นั่ง
สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 14 จังหวัดภาคใต้ ฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.ได้ 50 คน จังหวัดที่ ส.ส.ลดลง คือ กระบี่ 2 คน เดิม 3 คน นครศรีธรรมราช 8 คน เดิม 9 คน ตรัง 3 คน เดิม 4 คน เลือกตั้งปี 54 เคยกวาด ส.ส.ถึง 50 ที่นั่ง จากทั้งหมด 53 ที่นั่ง มีพรรคภูมิใจไทยและพรรคมาตุภูมิเจาะได้ที่ จ.ปัตตานี พรรคชาติไทยพัฒนาแทรกที่ จ.สตูล ปรากฏว่า การเลือกตั้งปี 62 ฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตีแตกยับเยินได้แค่ 22 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ โบกธงสะบัด 13 เขต พรรคภูมิใจไทยเจาะทะลุ 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติตีปีก 3 จังหวัดชายแดนใต้คว้า 6 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทยแบ่งไป 1 ที่นั่ง
เสาไฟฟ้าหักที่ภูเก็ต-ระนอง-กระบี่
ด้านพื้นที่ จ.ระนอง นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ พรรคภูมิใจไทย อดีตนายก อบจ.ระนอง น็อกแชมป์เก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์เจอที่เด็ดพรรคพลังประชารัฐเหมายกเกาะ เขต 1 นายสุทา ประทีป ณ ถลาง และเขต 2 นายนัทธี ถิ่นสาคู แต่นางกันตวรรณ ตันเถียร ก็กู้ชื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ที่ จ.พังงา เช่นเดียวกับ จ.กระบี่ เขต 1 นายสาคร เกี่ยวข้อง พรรค ประชาธิปัตย์ ก็เข้าวิน เขต 2 ปล่อยให้นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย ยิ้มร่าเข้าสภา
พปชร.บุกยึดนครศรีฯ-สงขลา
ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐล้มแชมป์ได้ 3 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายรงค์ บุญสวยขวัญ เขต 2 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง พรรคพลังประชารัฐ และเขต 7 นายสายัณห์ ยุติธรรม พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์รักษาแชมป์ได้ 5 เขต ประกอบด้วย เขต 3 นายเทพไท เสนพงศ์ เขต 4 นายประกอบ รัตนพันธ์ เขต 5 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เขต 6 นายชัยชนะ เดชเดโช และเขต 8 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เช่นเดียวกับที่ จ.สงขลา พรรคพลังประชารัฐทะลวงได้ 4 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายวันชัย ปริญญาศิริ เขต 2 นายศาสตรา ศรีปาน เขต 3 นายพยม พรหมเพชร และเขต 4 ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี พรรคภูมิใจไทยได้ 1 ที่นั่ง ที่เขต 7 นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ แชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์รักษาป้อมปราการได้เพียง 3 ที่นั่ง ประกอบด้วย เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง เขต 6 นายถาวร เสนเนียม และเขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
“ชวน” ถูกลูบคม-พัทลุงช้างล้ม
ส่วน จ.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์นํ้าตาตกในที่เขต 2 เมื่อพรรคภูมิใจไทย โดยนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ หรือปลัดหลอง อดีตปลัดจังหวัดพัทลุง ล้มช้างระดับรองหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส. 8 สมัยซ้อน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โดยมี “เจ๊เปี๊ยะ” นางนาที รัชกิจประการ ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 4 พรรคภูมิใจไทย แม่ทัพคุมปักษ์ใต้กรีฑาทัพถล่มพรรคประชาธิปัตย์ และยังชนะที่เขต 1 นายภูมิศิษฏ์ คงมี ยังดีนายนริศ ขำนุรักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ กู้หน้าเอาไว้ได้ที่เขต 3 สำหรับ จ.ตรัง ถิ่นบ้านเกิดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ต้องพลาดท่าให้พรรคพลังประชารัฐที่เขต 1 นายนิพันธ์ ศิริธร แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังรักษาหน้าเอาไว้ได้ที่เขต 2 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และเขต 3 น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส่วนที่ จ.สตูล พรรคภูมิใจไทยเดินพาเหรดเข้าสภา ทั้งเขต 1 นาย พิบูลย์ รัชกิจประการ และเขต 2 นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์
“วันนอร์” ผงาด-พปชร.คว้า 3 ที่นั่ง
ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แข่งขัน 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ ที่อัปเลเวลจากกลุ่มวาดะห์ นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์พลาดท่าได้แค่ 1 ที่นั่ง เดิมปี 54 ได้ถึง 9 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง โดย จ.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐแจ้งเกิดที่เขต 1 นายวัชระ ยาวอหะซัน เขต 2 นายสมพันธ์ มะยูโซ๊ะ เฉกเช่นพรรคประชาชาติ คว้าชัยที่เขต 3 นายกูเฮง ยาวอฮะซัน ลูกชาย กูเซ็ง ยาวอฮะซัน อดีตนายก อบจ. นราธิวาส เขต 4 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส่วนที่ จ.ยะลา เขต 1 นายอาดิลัน อาลีอิศเฮาะ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติควบเข้าเส้นชัยที่เขต 2 นายซูการ์โน มะทา และเขต 3 นายอับดุลอายี สาแม็ง ส่วนที่ จ.ปัตตานี เขต 1 นายอันวาร์ สาและ พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 นายอับดุลบาซิม อาบู พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติกวาด เขต 3 นายอนุมัติ ซูสารอ และเขต 4 นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์
กทม.ล็อกถล่ม ปชป.สูญพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านสนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ ที่มี 30 เขตเลือกตั้ง เป็นพื้นที่ที่มี 2 พรรคการเมือง เป็นเจ้าสนามเก่า โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.กทม.ทั้งหมด 23 คน และพรรคเพื่อไทยได้ 10 คน จากจำนวน ส.ส.33 ที่นั่งแต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จำนวนเขตเลือกตั้งลดลงเหลือ 30 ที่นั่ง เมื่อตรวจสอบผลการเลือกตั้ง เมื่อนับคะแนนไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ หลายพื้นที่เกิดรายการล็อกถล่มระเนนระนาด ผู้สมัครหน้าใหม่ “ล้มช้าง” ทำให้พรรคการเมืองที่เคยครองพื้นที่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นช้างล้มสูญพันธุ์ ไม่ได้ที่นั่งใน กทม.แม้แต่เขตเดียว โดยพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐได้ไป 12 เขต พรรคอนาคตใหม่ 9 เขต ส่วนพรรคเพื่อไทยถึงแม้จะเสียเก้าอี้ไป แต่ก็ยังรักษาสถานะ โดยได้ที่นั่ง ส.ส.กทม.รอบนี้ไป 9 เขตเลือกตั้ง
ปชป.ชั้นในพ่ายยับร่วงระนาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 1 น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ พรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าสภาสบายๆ เขต 2 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ หรือ “ดร.ส้ม” พรรคพลังประชารัฐ หน้าใหม่แซงเข้าป้าย ทำเอาแชมป์หลายสมัยอย่าง น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ อกหักอย่างแรง ส่วนในเขต 3 น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคอนาคตใหม่ เกาะกระแสเข้าป้าย พลิกล็อก ทำเอาเจ้าของฉายา “หล่อจิ๋ว” ม.ล.อภิมงคล โสณกุล จาก ปชป.ต้องปิ๋วไปเลย ขณะที่ในเขต 4 น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พรรคพลังประชารัฐ ติดป้ายเป็นว่าที่ ส.ส.ป้ายแดง ส่วนนายอนุชา บูรพชัยศรี เจ้าของฐานที่มั่นมาหลายสมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องซดน้ำใบบัวบก
“อรรถวิชช์-หมวดเจี๊ยบ” กระเด็น
ในเขต 5 ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จากเพื่อไทย เบียดคู่แข่งจากพลังประชารัฐเข้าป้าย เหนือกว่าไม่กี่ร้อยคะแนน ชนิดเรียกว่าเฉือนกันที่ขนจมูกเข้าเส้นชัย ขณะที่ในพื้นที่เขต 6 น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ ปราบเจ้าของพื้นที่เก่า นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ ที่คราวนี้เสียทรงไปเลย ขณะที่เขต 7 น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ พรรคพลังประชารัฐ พลิกล็อกฝ่าตัวเต็งเข้าป้ายชิลๆ เขต 8 นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ พรรคพลังประชารัฐ โดดคว้าเก้าอี้ทำเอาคู่แข่งอย่าง ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง จากพรรคเพื่อไทยร่วงผล็อย แต่ไม่เจ็บเท่ากับอีกราย นายสรรเสริญ สมะลาภา แชมป์จากพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่าสุดช้ำ
โซนตะวันออก พท.ยังแข็งแกร่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขต 9 นายสิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ เฉือนเจ้าของสนามเก่าอย่างนายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ชนิดลุ้นมันหยด ทางด้านเขต 10 นายการุณ โหสกุล พรรคเพื่อไทย จองตั๋วเข้าสภาสบาย เช่นเดียวกับเขต 11 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคเพื่อไทย และเขต 12 นายอนุสรณ์ ปั้นทอง พรรคเพื่อไทย เขต 14 นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ พรรคเพื่อไทย ขณะที่เขต 16 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย เฉือนหวิวคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐ เขต 18 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย โซนเมืองหลวงรอบนอกฝั่งตะวันออก พรรคเพื่อไทยกลุ่มนี้ยังรักษาฐานที่มั่น เพิ่มดีกรี ส.ส.กันอีกคนละสมัย
“วิชาญ-ไพโรจน์” โดนเทกระจาด
จะมีแบ่งเก้าอี้ก็ที่เขต 13 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ คว้าเก้าอี้ให้ค่ายใหม่มาแรง ปาดหน้านายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย และนายพริฐ วัชสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ “ไอติม” หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าเส้นชัยในดินแดนทุ่งบางกะปิ แต่ที่เรียกว่าช้างล้มจริงๆ ต้องในพื้นที่เขต 15 นายชาญวิทย์ วิภูศิริ พรรคพลังประชารัฐ ที่ผู้พ่อ “อัศวิน วิภูศิริ” ยังปักหลักที่พรรคประชาธิปัตย์ ลูกแหกค่ายย้ายทัพไปแหกโผล้มอดีตรัฐมนตรีอย่างวิชาญ มีนชัยนันท์ พรรคเพื่อไทย และเขต 17 นาย ศิริพงษ์ รัสมี พรรคพลังประชารัฐ ปราบนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ พรรคเพื่อไทย แชมป์เก่า
“อนาคตใหม่” แรงจัดพื้นที่ฝั่งธนฯ
ส่วนในเขต 19 นายประสิทธิ์ มะหะหมัด พรรคพลังประชารัฐ เข้าเส้นชัยแบบชิลๆ ส่วนนาง นาถยา แดงบุหงา พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าเขตนี้ อดเข้าไปโชว์สวนในสภาฯเรียบร้อยในรอบนี้ มาดูที่เขต 20 มณฑล โพธิ์คาย พรรคอนาคตใหม่ แจ้งเกิด โค่นแชมป์เก่านายสามารถ มะลูลีม พรรค ประชาธิปัตย์ ต้องจำไม่รู้ลืม เขต 21 นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ เป็นว่าที่ผู้แทนฯใหม่ เหนือนายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่รักษาฐานที่มั่นไว้ไม่ได้ ส่วนเขต 22 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคอนาคตใหม่ เติมแต้มให้ค่ายสีส้มหวาน ทำให้ ท.พ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ ติดป้ายอดีตผู้แทนฯไปแล้ว เขต 23 นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี พรรคอนาคตใหม่ เฉือนนางสาวทิพานัน ศิริชนะ พรรคพลังประชารัฐ ฉิวเฉียด เขต 24 นายทศพร ทองศิริ พรรคอนาคตใหม่ บวกแต้มให้หัวหน้าตี๋ได้อีกราย ดับฝันนายไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ ทายาทเจ้าของปลากระป๋องชื่อดัง ที่สำคัญทำให้นายสาทร ม่วงศิริ แชมป์เก่า ปชป.เจ็บจุก ส่วนเขต 25 นายณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ เติมแต้มให้พรรคสีส้มอนาคตใหม่ ทำให้นายสากล ม่วงศิริ แชมป์เก่า ปชป.เจ็บกระดองใจ
“วัน” เฮสุดเสียง-“เสี่ยไก่” แป้ก
เขต 26 นายวัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย สานฝันคุณพ่อ เปิดซิงเข้าสภาฯเบียด พ.ต.อ.นพ. สามารถ ม่วงศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วงเก้าอี้ เขต 27 นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ พรรคอนาคตใหม่ เข้าป้ายแต่หืดขึ้น สูสี พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า หลุดฟอร์มเหมือนคุณพ่อบุญธรรม “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ และที่พลิกไปพลิกมาต้องที่เขต 28 ม้ามืดจากอนาคตใหม่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พลิกไปพลิกมาหลายรอบ สุดท้ายเฉือนหวิว ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา พรรคพลังประชารัฐ ที่สำคัญดับฝันหวานๆของอดีตรัฐมนตรีนายวัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย รวมถึงนางอรอนงค์ คล้ายนก พรรค ประชาธิปัตย์ เขต 29 นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา พรรคเพื่อไทย บวกแต้มให้สังกัดได้ตามเป้า ขณะที่มือปราบคอร์รัปชัน อย่างนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกไปลุยปราบโกงอยู่นอกสภาฯ เขต 30 นายจักรพันธ์ พรนิมิตร พรรคพลังประชารัฐ เฉือนคู่แข่ง นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ พรรคเพื่อไทย และที่ช็อกสำหรับคน ปชป. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ปิดฉากผู้แทนฯคนสวยไปแล้ว
กกต.สรุปตัวเลข ส.ส.ระบบเขต
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่สำนักงาน กกต.ได้เผยแพร่ข้อมูลจำนวน ส.ส.350 เขต ที่มีคะแนนนำสูงสุด อย่างไม่เป็นทางการ 95 เปอร์เซ็นต์ รวม 350 เขต 77 จังหวัด โดย พรรคเพื่อไทยได้ 137 ที่นั่ง แบ่งเป็น กทม.9 ที่นั่ง ภาคกลาง 15 ที่นั่ง ภาคอีสาน 84 ที่นั่ง ภาคเหนือ 29 ที่นั่ง ส่วนภาคใต้ไม่มีที่นั่ง ส.ส.เลย พรรคพลังประชารัฐ ได้จำนวน ส.ส. 97 ที่นั่ง กทม.ได้ 12 เขต ภาคกลาง 36 ที่นั่ง อีสาน 11 เขต เหนือ 25 เขต ใต้ 13 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 33 ที่นั่ง กทม.ไม่มีที่นั่ง กลาง 8 เขต อีสาน 2 ที่นั่ง เหนือ 1 ที่นั่ง ภาคใต้ 22 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 39 ที่นั่ง แบ่งเป็น กทม.ไม่มีที่นั่ง ภาคกลาง 13 ที่นั่ง อีสาน 16 ที่นั่ง ภาคเหนือ 2 ที่นั่ง ใต้ 8 เขต พรรคอนาคตใหม่ 30 ที่นั่ง แบ่งเป็น กทม. 9 เขต ภาคกลาง 15 ที่นั่ง อีสาน 1 เขต เหนือ 5 เขต ใต้ไม่มีที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 6 ที่นั่ง แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 ที่นั่ง ภาคอีสาน 1 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง จ.นครราชสีมา ภาคอีสาน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่งจากภาคใต้ พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง จากภาคใต้
ร้อง กกต.ค้านบัตรนิวซีแลนด์เสีย
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงาน กกต. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อคัดค้านการที่ กกต.นัดประชุมเพื่อชี้ว่าบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ที่มาถึงล่าช้าเป็นบัตรเสีย เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเห็นเหตุสุดวิสัย ล่าช้าเพราะปัญหาการขนส่ง ไม่ใช่เหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำให้การเลือกตั้ง เป็นไปโดยไม่สุจริต ดังนั้น จึงไม่ควรทำให้บัตร 1,500 ใบ เป็นคะแนนที่สูญเปล่า จึงเรียกร้อง ให้ กกต.ใช้อำนาจตาม มาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 22 (3) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. วินิจฉัยว่า บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ เป็นบัตรดีเพื่อดำเนินการตรวจนับและประกาศรวมกับผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ไม่เช่นนั้นประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโฆฆะ
“หนูหริ่ง” ประชดมอบเครื่องคิดเลข
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” แกนนำกลุ่มเกียน ได้นำเครื่องคิดเลขและผลสตรอว์เบอร์รีมามอบให้กับประธานกกต.ผ่านเจ้าหน้าที่และเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบปัญหาจากการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 4 กรณีคือ 1.เหตุใดบัตรที่มีการใช้สิทธิในหลายหน่วยจึงมีมากกว่าจำนวนคนที่มาใช้สิทธิ 2.คะแนนลดลงหลังจากที่นับไปแล้วในช่วงค่ำแต่พอช่วงเช้า คะแนนในบางเขต ควรจะเพิ่มขึ้นกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 3.การหยุดรายงานคะแนน แม้การนับคะแนนในครั้งนี้จะมีความซับซ้อนกว่าในอดีต แต่ไม่ควรใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน ตั้งข้อสงสัยว่าคะแนนถูกส่งจากหน่วยมาถึง กกต.กลางในช่วงเวลาใด ความล่าช้าเกิดจากปัญหาที่หน่วยนับไม่เสร็จหรือการรวมคะแนนของ กกต.มีปัญหา 4.กรรมการหน่วยบางแห่งไม่ตรวจบัตรประชาชน ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อป้องกันการเวียนเทียน การยื่นหนังสือครั้งนี้ได้นำเครื่องคิดเลขและสตรอว์เบอร์รีมาฝาก เนื่องจาก กกต.ต้องตอบคำถามบ่อยครั้งจะได้ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นต่อลำคอและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
“ลดาวัลลิ์” จี้ กกต.สอบบัตรผี
ที่พรรคเพื่อไทย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต.ต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบัตรผีโผล่ใน 10 จังหวัดที่เผยแพร่ในโซเซียล โดยมีการเปรียบเทียบจำนวนผู้มีสิทธิกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ทั้ง จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ก็มีบัตรเกินด้วย หากเป็น ข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษทางอาญา และมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บัตรผีที่โผล่เกินมานั้นมาจากกลไกอำนาจรัฐซึ่งถูกกุมสภาพโดยรัฐบาล คสช.หรือไม่ ขอเรียกร้องไปยัง กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบโดยเร่งด่วน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป หาก กกต. ไม่ดำเนินการใดๆ อาจเป็นที่ครหาต่ออารยประเทศว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยไม่ชอบธรรม จะส่งผล ต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลไทยได้
“สุรชาติ” โวยบัตรมากกว่าผู้ใช้สิทธิ
นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส.เขต 9 กทม. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเรียกร้องให้ กกต.ตอบคำถามสังคมให้ได้ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะเขตเลือกตั้งที่ 9 มีปัญหาบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และปัญหาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของเขต 9 ถูกส่งไปนับคะแนนที่เขต 1 จนส่งผลให้บัตรทั้งหมดกลายเป็นบัตรเสีย กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบกับคะแนนเสียงที่ออกมา จึงขอเรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ในเขต 9 เพราะหากนับคะแนนใหม่เพียงอย่างเดียวก็จะเกิดปัญหาเช่นเดิม เพราะบัตรถูกคละไปหมดแล้ว ทั้งนี้ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรหากพบว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตยุติธรรม
พปชร.ร้องว่าที่ ส.ส.อนค.เอาเปรียบ
เมื่อเวลา 13.15 น. ที่สำนักงาน กกต. นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้สมัครเขต 3 ยานนาวา บางคอแหลม พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือและหลักฐานต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบการหาเสียงผิดกฎหมายของ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ได้แจกทุนการศึกษาและขนมให้กับนักเรียนในเขตยานนาวา 3 แห่ง โดยสวมเสื้อที่มีโลโก้พรรค พร้อมแจกใบปลิวแผ่นพับแนะนำนโยบายพรรคแจกให้กับครูและผู้ปกครอง ต่อมาวันที่ 13 ม.ค. น.ส.วรรณวรียังได้สวมเสื้อมีโลโก้พรรคไปแจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 พร้อมแผ่นพับนโยบายพรรคให้กับประชาชนย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม ได้โพสต์ภาพเป็นหลักฐานในเพจเฟซบุ๊กของ น.ส.วรรณวรี ซึ่งมียอดผู้ติดตามมากกว่าหมื่นคน ซึ่งการแจกจ่ายสิ่งของจึงทำเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เอาเปรียบผู้สมัครจากพรรคอื่น เข้าข่ายหาเสียงผิดระเบียบ กกต. มาตรา 18 (4) เรื่องการให้เงินช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป โดยหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ตนมีคะแนนน้อยกว่า น.ส.วรรณวรี 2,000 คะแนน
หอการค้าไทยห่วงตั้งรัฐบาลช้า
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างที่คาดไว้ แต่เรื่องการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลของพรรค การเมือง 2 ขั้วห่างกันไม่มากนัก น่าจะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลขาดเสถียรภาพ บริหารงานยาก โดย เฉพาะการลงคะแนนในรัฐสภา มีโอกาสรัฐบาลอาจแพ้การลงคะแนนได้ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความวุ่นวายต่างๆที่จะเกิดขึ้น หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันภายในเวลาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ การที่ประเทศไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศนานหลายเดือน ทำให้งานไม่เดินหน้า ความเชื่อมั่นจะหายไป โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ จึงต้องการให้ทุกฝ่ายลดราวาศอก อะไรที่หยวนกันได้ให้หยวนๆกันไป ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ถ้าประเทศว่างเว้นการมีรัฐบาลแค่ 6 เดือน ก็อันตรายแล้ว อย่าสร้างอุปสรรคการเดินหน้าประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวโน้มที่พรรคพลังประชารัฐจะได้จัดตั้งรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เชื่อว่าจะส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องเช่น การส่งเสริมการลงทุนพื้นที่อีอีซี โครงการไทยแลนด์ 4.0 โครงการอุตสาหกรรม 4.0 การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เพิ่มประโยชน์มากขึ้น
เตือนอย่าทำประเทศติดล็อก
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่กังวลคืออย่าให้นำไปสู่การโมฆะ จะทำให้ประเทศไทยเสียเวลาอีกหลายเดือน หากต้องเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น หากเกิดปัญหาติดล็อกควรหาทางออกร่วมกัน ภาคเอกชนไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องการให้ทบทวนนโยบายเศรษฐกิจที่ควรเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น ไม่อยากเห็นนโยบายประชานิยมมากเกินไป ส่วนกรณีเสียง 2 พรรคใหญ่ค่อนข้างก้ำกึ่ง ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ถูกใจคนอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากคนรากหญ้าที่ยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี น่าจะทบทวนการทำงาน วิธีเดิมคงได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่อะไรดีน่าจะได้รับการสานต่อ เช่น โครงการอีอีซี เพราะลงทุนไปค่อนข้างมากแล้ว
หุ้นไทยแดงเถือกร่วงกว่า 28 จุด
สำหรับปฏิกิริยาตลาดหุ้นไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนวันที่ 25 มี.ค. ภายหลังรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงในทันทีที่เปิดตลาด นักลงทุนเทขายหุ้นหนีตายหลังประเมินผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะได้รัฐบาลผสมหลายพรรคที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่มีความมั่นคงทางการเมือง หลังพรรคที่คาดว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลได้คะแนนเสียงไม่ชนะขาด ทำให้การบริหารจัดการประเทศและการดำเนินนโยบายสำคัญต่างๆทำได้ยากขึ้น โดยแรงขายยังคงออกมาหนักหน่วงต่อเนื่องในภาคบ่ายก่อนตลาดจะมาปิดทำการที่ระดับ 1,625.91 จุด ลดลง 20.38 จุด ระหว่างวันลงไปต่ำสุดที่ 1,617.89 จุด ลดลง 28.40 จุด ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขาย 47,064.83 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยจากผลการเลือกตั้งแล้ว ตลาดหุ้นไทย รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกถูกกดดันจากปัจจัยนอก ที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงแรง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมาไม่ดี
แต่หุ้นชาญวีรกูลเด้งขึ้นสวนทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหุ้นของตระกูลชาญวีรกูล ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถือหุ้นใหญ่กลับปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดในภาพรวม โดยเป็นกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ คือ หุ้น บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง (STEC) ปรับขึ้น 0.70 บาท มาปิดที่ 23.70 บาท และ บมจ.เอสทีพีแอนด์ไอ(STPI) ปิดที่ 6.05 บาท บวก 0.15 บาท ทั้งนี้ เป็นผลจากจิตวิทยาการลงทุน ที่นักลงทุนมองว่า พรรคภูมิใจไทยได้เสียงเลือกตั้งเกินความคาดหมายและยังเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย น่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาฯและหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง
สื่อเทศวิจารณ์ ลต.ไทยไม่ปกติ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์เลือกตั้งในประเทศไทย โดยบีบีซี ระบุผลการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ 24 มี.ค.ยังสับสนไม่ชัดเจน ท่ามกลางเสียงร้องเรียนผลการเลือกตั้งไม่ปกติและไม่ถูกต้อง เบื้องต้น กกต.ระบุพรรคพลังประชารัฐฝ่ายสนับสนุนกองทัพมีคะแนนนำอยู่ในสถานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การบริหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ หรือ (PPRP) ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนราว 7.6 ล้าน คะแนน เหนือกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคะแนนเลือกตั้งอันดับ 2 ถึงราว 5 แสนคะแนน ขณะเดียวกัน กระแสสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความ#ECisBust หรือผลเลือกตั้งมีปัญหา โดยมีผู้แชร์ข้อความนี้มากกว่า 800,000 ครั้ง นอกจากนั้น ข้อความ #Cheating Election19 ก็มีผู้คนแชร์กันมากด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของไทยอาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุถึงความคลางแคลงใจจากบัตรลงคะแนนเลือกตั้งเสียมากเกือบ 1.9 ล้านใบ จากจำนวนการนับผลคะแนนเลือกตั้งแล้วราว 93 เปอร์เซ็นต์
กกต.แจงข้อมูลสับสนสื่อคำนวณเอง
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน กกต. พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ร่วมกันแถลงผล การรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการและการรายงานผลอย่างเป็นทางการ โดยนายณัฏฐ์ กล่าวถึงการประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการว่า ระเบียบ กกต.กำหนดให้ประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการร้อยละ 95 การรายงานผลตามที่แต่ละสถานีข่าวอ้างว่าเสร็จหมดแล้ว และนำไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ข้อเท็จจริงคือสำนักงานฯส่งข้อมูลดิบที่ได้รับรายงานจาก ผอ.หน่วยเลือกตั้งที่ส่งเข้ามาให้ทีวีดิจิทัลกว่า 30 ช่อง ข้อมูลที่ออกมาเป็นการคำนวณเองทำให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน ต้องระวัง กกต.ได้ทำหนังสือถึงนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว
โบ้ยบัตรเกินคนกรอกผิดพลาด
นายณัฏฐ์กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยถึงคะแนนที่ไม่สัมพันธ์กัน โดยจำนวนบัตรมากกว่าจำนวนผู้ไปใช้สิทธินั้น ข้อมูลที่ปรากฏออกมามีข้อผิดพลาดหลายส่วน เป็นความผิดพลาดจากตัวบุคคล กรอกข้อมูลผิด ป้อนข้อมูลผิด และระหว่างเริ่มทำงานแรพ พิดรีพอร์ต ล่มถึง 3 ครั้ง จากการเข้าโจมตีระบบของแฮกเกอร์ แม้แต่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ระบบก็ล่มอีก ต้องยอมรับว่าคนของเราเก่งจริงๆชอบแสดงความสามารถ ถ้าชนะจะมีความสุข อย่างไรก็ตาม การตอบสนองความอยากรู้ผลคะแนนมันจบไปแล้ว เพราะทราบผลไม่เป็นทางการผ่านสื่อแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าสู่โหมดการรายงานผลอย่างทางการ จึงไม่ต้องกังวล กกต.โดนมาเยอะแต่ก็เข้าใจและพร้อมทำงาน
29 มี.ค.เปิดผู้ชนะคะแนน 350 เขต
นายณัฏฐ์ กล่าวว่า ภายในวันศุกร์ที่ 29 มี.ค.นี้เมื่อได้รับรายงานครบจากทุกเขตแล้วจะเปิดเผยว่าใครมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 1 ทั้ง 350 เขต ส่วนใหญ่จะประกาศเฉพาะชื่ออันดับ 1 หรือแบบเดิมที่มีการเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ครั้งนี้คะแนนผูกโยงกัน ไม่สามารถคำนวณได้ในทันที เพื่อป้องกันการสับสน กฎหมายให้อำนาจ กกต.ประกาศผลที่ร้อยละ 95 ไม่ไช่การกั๊กข้อมูล ซึ่งกฎหมายก็ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประชาชนทุกคนควรต้องรู้
คว้าตัวนักข่าวซักมากไปให้ข้อมูล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการกีดกันประชาชนออกจากการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง นายณัฏฐ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เชิญผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามไปบันทึกข้อเท็จจริงเพื่อส่งเรื่องให้พื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อถูกซักเรื่องบัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ นายณัฏฐ์ ตอบว่า ขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง ถ้านำมาเผยแพร่ผิดๆ เราต้องรับผิดชอบ เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของ กกต.จะกู้ความศรัทธากลับมาอย่างไร นายณัฏฐ์ ตอบว่า ศรัทธาหรือไม่ตอบไม่ได้ ห้ามให้คนคิดไม่ได้ แต่ยืนยันทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเต็มที่
มั่นใจ 9 พ.ค.ประกาศผลทางการ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งจนถึงขณะนี้ มีคำร้องต่างๆเข้ามายัง กกต. 110 คำร้อง ทั้งนี้หากมีกรณีที่เห็นว่านับคะแนนไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรมสามารถร้องคัดค้านได้ กฎหมายจึงให้ กกต. ประกาศผลอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน จากการตรวจไม่พบว่าเขตเลือกตั้งใดมีคะแนนโหวตโนชนะผู้สมัคร และมีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่มีจำนวน ส.ส.เกินสัดส่วนพึงได้ (overhang) เบื้องต้น กกต.วางกรอบที่จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค.อาจใช้เวลาเพียง 45 วันหลังการเลือกตั้ง เพื่อจะครบพอดีเวลา 150 วันในการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หาก กกต.แจกใบแดงเลือกตั้งใหม่และคำนวณคะแนนใหม่ คนที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับสุดท้ายอาจต้องหลุดออกไป
ให้รอลุ้นจำหน่ายบัตรเสียแดนกีวี
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่กระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่าส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์ไม่ล่าช้า ปิดการลงคะแนนเสร็จก็ส่งบัตรทันทีนั้นจากการตรวจสอบบัตรเลือกตั้ง ส่งถึงประเทศไทยในวันที่ 23 มี.ค.เวลา 22.00 น.โดยถุงเมล์บรรจุบัตรเลือกตั้งจะถูกส่งมอบให้ กกต.ในวันที่ 26 มี.ค.และจะนำเสนอให้กรรมการ กกต.พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 114 บัตรดังกล่าวจะถูกนำมานับคะแนนหรือไม่อย่างไร
สอท.เวลลิงตันเสียใจคะแนนตกน้ำ
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้ออกประกาศ ชี้แจงว่า สถานเอกอัครราชทูตฯเข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง รู้สึกผิดหวังเสียใจอย่างยิ่งต่อกรณีที่เสียงของผู้มีสิทธิ และของพวกเราในนิวซีแลนด์ อาจไม่สะท้อนออกมาในผลเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งที่พวกเราและอาสาสมัครช่วยเหลืองานเลือกตั้งทุกคนร่วมแรงร่วมใจเตรียมจัดการเลือกตั้งมานานกว่า 2 เดือน โดยหวังจะให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนิวซีแลนด์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น โดยระหว่างวันที่ 4-16 มี.ค.ได้ดำเนินการครบทั้ง 3 วิธี คือ ตั้งคูหาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ วิธีไปรษณีย์ และวิธีคูหาเคลื่อนที่ ที่นครโอ๊กแลนด์และเมือง Blenhiem อำนวยความสะดวกให้ลงคะแนนได้มากที่สุด มีผู้ขอลงทะเบียนใช้สิทธิ 1,862 คน ออกมาใช้สิทธิรวม 1,542 คน แต่กระบวนการจัดส่งบัตรอยู่เหนือการควบคุมของสถานเอกอัครราชทูตฯ ยืนยันว่าผู้ลงทะเบียนและใช้สิทธิในนิวซีแลนด์ถือว่าได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งของตนเองแล้ว
เผยบัวแก้วไปรับถุงบัตรหลังปิดหีบ
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการขนส่งถุงพัสดุบรรจุบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ล่าช้ากว่ากำหนด ว่า บริษัทยืนยันว่าขนส่งถุงพัสดุที่บรรจุบัตรเลือกตั้งได้ทันกำหนดเวลา โดยได้รับถุงพัสดุจากสายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.และขนส่งมาทางคาร์โก้ในเที่ยวบินที่ TG492 ของวันที่ 23 มี.ค.จากเมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันเดียวกันเวลา 20.50 น. โดยเจ้าหน้าที่คลังสินค้าการบินไทยโทรศัพท์แจ้งผู้ประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศเวลา 17.00 น. ก่อนเครื่องบินลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้มารับถุงพัสดุในวันที่ 23 มี.ค.ระหว่างเวลา 22.00-22.30 น. ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศมารับถุงพัสดุจากคลังสินค้าในวันที่ 24 มี.ค. เวลา 19.30 น. ทั้งนี้ บริษัทขนส่งบัตรเลือกตั้งตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติ จะไม่นำบัตรเลือกตั้งไปส่งยังสำนักงาน กกต. แต่จะมีผู้ประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศมารับที่คลังสินค้าการบินไทย
แจง สอท.ประสานสลับเที่ยวบิน
ช่วงเย็นวันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีการจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ว่า ตามที่ปรากฏในสื่อช่องทางต่างๆ และการแถลงข่าวของสำนักงาน กกต. กรณีการจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์มาถึงประเทศไทยล่าช้า โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตฯชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. สถานเอกอัครราชทูตฯได้จัดส่งบัตรเลือกตั้งจำนวน 1,542 ใบ ทางถุงเมล์การทูตพิเศษผ่านสายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ เพื่อจัดส่งไปยังนครโอ๊กแลนด์ในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับทราบการจัดส่งล่าช้า จึงได้ประสานเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่ของ บ.การบินไทย ในทันที ซึ่ง Ground Handling Agent ของ บ.การบินไทย แจ้งว่าได้รับถุงเมล์การทูตพิเศษจากสายการบิน แอร์ นิวซีแลนด์ ในวันที่ 22 มี.ค.2562 ซึ่งไม่ทันเวลาที่จะนำขึ้นเครื่องของการบินไทยในวันเดียวกัน จึงได้จัดส่งถุงเมล์ไปประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน ทีจี 492 ของวันที่ 23 มี.ค.2562 ทันที กำหนดถึงไทยในเวลา 20.50 น. โดยต้องผ่านพิธีทางศุลกากรให้เสร็จสิ้นก่อนจะนำออกมาได้
เพิ่งจัดส่งมอบให้ กกต.25 มี.ค.
กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน นับตั้งแต่ทราบว่าถุงเมล์ทางการทูตพิเศษดังกล่าวถูกจัดส่งล่าช้า อีกทั้งเมื่อกระทรวงการต่างประเทศทราบว่าถุงเมล์การทูตพิเศษได้มาถึงประเทศไทยแล้ว จึงได้ไปรับถุงเมล์การทูตพิเศษดังกล่าวจากคลังสินค้าบริษัท การบินไทย ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 และได้ส่งมอบถุงเมล์การทูตพิเศษให้กับสำนักงาน กกต.ในวันที่ 25 มี.ค.2562 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
“ทักษิณ” ครวญถูกโกงเลือกตั้ง
วันเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความไปลงในคอลัมน์แสดงความคิดเห็น (opinion piece) ในหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์ก ไทมส์” ของสหรัฐอเมริกา กล่าวหาคณะรัฐบาลทหาร หรือ คสช. เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. ภายหลังพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงต่ำเกินกว่าที่คาดหมาย โดยผลการเลือกตั้งบางส่วนปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุน คสช. และต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีคะแนนดิบหรือคะแนนเสียงประชาชนทั้งประเทศ (ป๊อปปูลาร์ โหวต) มากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยนายทักษิณตั้งหัวข้อในคอลัมน์ดังกล่าวว่า “การเลือกตั้งในประเทศไทยถูกโกง” และกล่าวว่า ตนรู้ว่าคณะรัฐบาลทหารซึ่งปกครองประเทศไทยต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ไม่เชื่อว่าจะทำได้ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.
ย้ำพิรุธเลือกตั้งโกงแน่นอน
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเป็นภาษาอังกฤษที่ฮ่องกงว่า การเลือกตั้งในประเทศ ไทยถูกทำให้เสียหายจากความผิดปกติและการโกง เพื่อรับประกันว่ารัฐบาลทหารจะยึดกุมอำนาจทางการ เมืองได้ต่อไป ทุกคนในประเทศไทยรู้ ทุกคนจากนานาชาติที่สังเกตการณ์เลือกตั้งในประเทศไทยรู้ว่ามีความผิดปกติ สิ่งที่เราควรเรียกมีการโกงการเลือกตั้งมันไม่ดีสำหรับประเทศไทย เกมใดๆถ้ากฎกติกาและกรรมการไม่ยุติธรรม ผลจะไม่ได้รับการยอมรับ เมื่อถูกนักข่าวเอเอฟพีถามว่า คุณคิดว่าการเลือกตั้งถูกโกงหรือไม่ นายทักษิณตอบว่า “แน่นอน” และเมื่อขอให้แสดงหลักฐาน นายทักษิณได้ระบุว่ามีรายงานการลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐในจังหวัดสำคัญๆสูงอย่างน่าสงสัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่ามีจำนวนบัตรเสียสูงมาก และถ้าดูที่จำนวนบัตรลงคะแนนและจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิหย่อนบัตร จะเห็นว่าจำนวนบัตรลงคะแนนมีมากกว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมากในหลายจังหวัด