การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในระบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน ภายใต้การกำกับดูแลและจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ภายหลัง นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

ครั้งแรกแบ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น 2 ประเภท

วันที่ 6 มกราคม 2544 ถือการเลือกตั้งครั้งแรกที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนผลการเลือกตั้ง ก่อนประกาศรับรอง และมีการประกาศให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ในการรับรองผลการเลือกตั้งรอบแรก มีการรับรองจำนวนทั้งสิ้น 338 คน และประกาศให้เลือกตั้งใหม่ 62 เขตเลือกตั้ง และยังเป็นครั้งแรก มีการแบ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกนั้นได้ แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตเล็ก มีผู้แทนราษฎรได้คนเดียว มี(เขตเลือกตั้ง) แบ่งทั่วประเทศอยู่ 400 เขต กับประเภทที่ 2 ใช้ประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้งและให้มีผู้แทนราษฎรในเขตนี้ได้รวมทั้งสิ้น 100 คน

ดังนั้น พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครประเภทนี้ที่เรียกว่า แบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละไม่เกิน 100 คน ดังนั้นประเภทหลังนี้จึงเป็นผู้แทนของพรรค การได้ที่นั่งในสภาของผู้แทนประเภทนี้ต้องคิดจากจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับในวันที่เลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะได้สิทธิในการออกเสียง ทั้ง 2 ประเภทแยกกันเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับแล้วเอามาคำนวณเพื่อได้จำนวนผู้แทนราษฎรนั้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน

...

ไทยรักไทย ได้ที่นั่งเยอะสุด จัดตั้งรัฐบาลร่วมอีก 2 พรรค


ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ทั้งหมด 42,759,001 คน มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริงจำนวน 29,904,940 คน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 69.94 นับว่าไม่ต่ำ และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมกัน 248 คน ซึ่งมีจำนวนมากสุด หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศรับรองแล้ว พรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นรัฐบาลผสม 3 พรรค โดยมี พรรคชาติไทย และ พรรคความหวังใหม่ เข้าร่วม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 รัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชุดนี้อยู่บริหารประเทศได้ครบ 4 ปี

ดร.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ขณะที่ภาวะหดตัว จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จึงเริ่มดำเนินนโยบายพื้นฟูเศรษฐกิจของจากฐานล่าง "จากรากหญ้าสู่รากแก้ว" ผุดนโยบาย "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท ปล่อยกู้คนในชุมชนอัตราดอกเบี้ยต่ำสร้างอาชีพ และพักชำระหนี้เกษตรกรสามปี

"30 บาท รักษาทุกโรค" นโยบายได้ใจคนจน


ประเทศไทยขณะนั้นมีคนจนกว่า 10 ล้านคน ที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ ทักษิณ จัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถผลักดันแผนดังกล่าวเกิดเป็นโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" ในช่วงแรกที่ประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว แทบไม่ปรากฏการคัดค้านในสื่อใดเลย แต่โครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร

ซึ่งต่อมา โครงการนี้เพิ่มภาระงานแก่ลูกจ้างสาธารณสุขจนทำให้แพทย์จำนวนมากลาออก การบริการเป็นไปได้อย่างล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพลง จึงถูกโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นโครงการ "30 บาท ตายทุกโรค" แต่ก็ยังได้ใจคนจนที่ไม่มีทางเลือกในการรักษาโรค อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว ทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลลดลง โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหาแหล่งรายได้อื่น ส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางการแพทย์ โดยมีผู้ป่วยต่างชาติ 1.3 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 33,000 ล้านบาทในปี 2548

รัฐบาลทักษิณ ยังเปิดให้มีการเข้าถึง ยาต้านรีโทรไวรัสเอชไอวีราคาถูกถ้วนหน้า ทำให้จำนวนผู้ที่ป่วยเอชไอวีตลอดจนอัตราความชุกของโรคโดยรวมลดลง นอกจากนี้ ทักษิณ อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวประมาณ 2.3 ล้านคน ขึ้นทะเบียนและรับบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบสาธารณสุขของไทย มีสิทธิได้ใบอนุญาตทำงานเมื่อสิ้นสุดระยะขึ้นทะเบียน และได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างสมบูรณ์

“3 ปาฏิหาริย์” น่าตื่นตะลึง ชนะเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544


นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในยุคแรกๆ ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เล่าย้อนวันเวลา เมื่อ 17 ปีที่แล้วว่า “ทำไมพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในวันที่ 6 มกราคม 2544”

“การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิมอีก พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเกือบครี่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (248 คนจาก 500 คน) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลการเลือกตั้งทำให้หลายฝ่ายงุนงง แทบไม่เชื่อว่าเป็นความจริง บางคนบอกว่า มีการซื้อเสียงกันมโหฬาร บางคนบอกว่า เป็นปาฏิหาริย์ แล้วอะไรกันแน่ ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพียง 2 ปี 5 เดือน เอาชนะพรรคเก่าแก่ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ได้

เมื่อทบทวนผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง พบว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้จำนวน ส.ส.เพียง 22-32% และใกล้เคียงกับอันดับ 2 มาก ส่วนการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว (248 :128) ปัจจัยที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องซื้อเสียงที่เล่าขานกันมาทุกยุคทุกสมัย เพราะการซื้อเสียงย่อมไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญขนาดนี้ ผมคิดว่า มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการที่สร้าง “ปาฏิหาริย์” น่าตื่นตะลึงนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สร้างระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนขึ้นมา เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคเป็นครั้งแรก และยังแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เขตที่เล็กลง ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น ทุกพรรคการเมืองใช้เพียงเบอร์เดียวในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจดจำของประชาชนผู้มาเลือกตั้ง การเกิดขึ้นของคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เป็นอีกหนึ่ง “นวัตกรรม” ของรัฐธรรมนูญนี้ และการทำงานของ กกต.ชุดแรกซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นชุด “ดรีมทีม” ที่ทำงานอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้คืนหมาหอนคลายมนตร์ขลังลงไปมาก


2.พรรคไทยรักไทย ใช้การบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ในการวางแผนเลือกตั้ง และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีเข้ามาทำงานการเมือง มีทั้ง นักวิชาการ แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ มีพลังมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ จุดอ่อนคือ ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เราเรียกกันเล่นๆ ว่า “นกแล” แต่นกแลเหล่านี้แหละที่เดินหาเสียงอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเข้าโค้งสุดท้าย นักการเมืองอาวุโสเจ้าของพื้นที่ ชนะเลือกตั้งมาแล้วหลายสมัยเริ่มหวั่นไหว

3.เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า “ช้างล้ม” ไปจำนวนมากเพราะ “นกแล” หนุ่มสาวนี้เอง ดูจากรายชื่อ ส.ส.ที่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมาในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 จำนวน 248 คน พบว่า เป็น ส.ส.เก่าจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เพียง 93 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 155 คน บางคนเป็นอดีต ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในปี 2539 แต่ส่วนใหญ่ คือ “นกแล” ที่มีพลังสร้างสรรค์

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 คนไทยลงคะแนน 19 ล้านเสียง เยอะสุดในประวัติศาสตร์

นายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 4 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ โดยมีพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ที่รวมสมาชิกจากพรรคต่าง ๆ ได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพ เข้ากับพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้หมายเลข 9 ใช้คำขวัญหาเสียงว่า "4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง"

ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นประวัติศาสตร์กว่า 19 ล้านเสียง โดยได้ตำแหน่ง ส.ส.ในสภา จำนวน 376 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับได้เพียง 96 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงหลักของพรรคไทยรักไทย มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยในกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทยได้ถึง 32 ที่นั่ง จาก 37 เขตเลือกตั้ง จากนโยบายเมกะโปรเจกต์ สร้างรถไฟฟ้า 7 สาย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

รัฐบาลไทยรักไทยในสมัยที่ 2 เป็นรัฐบาลชุดแรกในประวัติศาสตร์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้การเมืองไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้าสู่ระบบ 2 พรรค

ประชาธิปัตย์ หาเสียง "ทวงคืนประเทศไทย"

การเลือกตั้งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ แพ้ไม่เป็นท่า ในครั้งนั้น ได้หมายเลข 4 หาเสียงด้วยคำขวัญ "ทวงคืนประเทศไทย" และรณรงค์ให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ 201 ที่นั่ง เพื่อที่จะตรวจสอบรัฐบาลได้ด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ ได้ 96 ที่นั่ง แต่พื้นที่ภาคใต้ได้ถึง 52 ที่นั่ง จากทั้งหมด 54 ที่นั่ง ส่วนพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้หมายเลข 1 หาเสียงด้วยคำขวัญ "สัจจะนิยม" ได้ 26 ที่นั่ง ต่อมาภายหลังได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายค้าน และพรรคมหาชน ได้หมายเลข 11 ก่อตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นาน เป็นพรรคที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ที่นั่งจำนวนมาก แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า กลับได้เพียง 3 ที่นั่ง

รัฐบาลทักษิณ 2 จุดบอดเยอะ ถูกฝ่ายค้านโจมตี

ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ทักษิณ ได้ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีของแกนนำพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย และมีการขยายการชุมนุมให้มากขึ้น และอีกทั่งการคอร์รัปชั่นและเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ตามที่กลุ่มผู้ไม่พอใจได้กล่าวมา จนกระทั่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. ทักษิณ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า "ผมขออนุญาตพี่น้องประชาชนที่ดูละครอยู่นะครับ แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ" แต่เมื่อยังคงมีกระแสต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ทักษิณ ได้ลาราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน

ทำไมต้องจ้างพรรคเล็กลงสนามเลือกตั้ง?

การจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นคู่แข่งกับพรรคตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดว่า เขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัคร ส.ส.แค่คนเดียว ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 และสาเหตุที่มีการรื้อเรื่องนี้มาตรวจสอบได้อย่างจริงจัง เพราะฝ่ายที่ขุดคุ้ย อ้างข้อมูล บังเอิญมีคนติดต่อมายัง นายสุขสันต์ ชัยเทศ เพื่อนของผู้ขุดคุ้ย ให้ไปลงสมัคร ส.ส.ด้วย ทางผู้ขุดคุ้ย ไม่รอช้า รีบบอกให้เพื่อนตกปากรับคำคำเชิญนั้นเพื่อไปฝังตัวอยู่ในพรรคพัฒนาชาติไทย จะได้รู้ว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กให้ลงเลือกตั้งจริง และจะได้รู้ว่าขบวนการจ้างเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ผู้ขุดคุ้ยยังได้ภาพจากกล้องวงจรปิดของ กระทรวงกลาโหม ลำดับเหตุการณ์เมื่อบ่ายวันที่ 3 มี.ค.49 ขณะที่ นายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นำผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทยเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ เพื่อรับเงินค่าจ้างลงสมัครรับเลือกตั้ง

ในครั้งนั้นผู้ขุดคุ้ยคือ นายไทกร พลสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายอีสานกู้ชาติ ให้ข้อว่า "โชคดีมีคนติดต่อมาหาคุณสุขสันต์ ผมก็เลยว่าถ้างั้นผมขอให้พี่สุขสันต์เข้าไปเลย ไปแต่งตัว แล้วก็เอาข้อมูลมา เดี๋ยวผมจะแฉมันเอง ผมก็พูดกันแค่นี้ หลังจากนั้นก็มีการประสานกันตลอด ในระยะที่เขาไปฝังตัวอยู่กับพรรคพัฒนาชาติไทย ที่โรงแรมกาญจน์มณี ถ.ประดิพัทธ์ ก็รู้ข้อมูล และผมก็เคยแอบเข้าไปสังเกตการณ์ที่ล็อบบี้ครั้งหนึ่งว่ามีคนมาเยอะมั้ย อย่างไร กระทั่งรู้ว่ามันดำเนินการจริง ผมไปครั้งเดียว ไปแอบดูเขาแล้วก็กลับ"

ทีนี้ข้อมูลก็ไหลมาหาผมเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณสุขสันต์ตอนแรกเราว่าจะแถลงข่าวเลย ก็เลยปรึกษาหารือกัน ได้ข้อสรุปว่าจะยังไม่แถลงข่าว จนกว่าการกระทำผิดนั้นมันจะเสร็จสมบูรณ์ ก็คือรอให้คนที่รับจ้างลงสมัครก่อน ให้พวกย้อนหลังสมาชิกพรรค 90 วันทั้งหลายไปสมัครให้ครบ วันสุดท้ายก็เป็นวันที่ 8 มี.ค. พอเขาสมัครกันครบทุกคนแล้ว ผมเช็ก กกต.จังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ผมก็แถลงข่าวขึ้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ว่ามีการทำอย่างนี้ พอดีทีวีในเครือเนชั่นเขาก็สัมภาษณ์ผม และมีการพูดจาท้าทายกันระหว่างท่านปริญญา นาคฉัตรีย์ (กกต.) กับผม ท่านแจ้งว่า “ไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”

“ผมก็บอกว่า “มี” พิธีกรก็เลยให้ไปตรวจสอบ ผมก็เลยไปจริง ตอนเช้าวันนั้นวันที่สัมภาษณ์กันทางโทรศัพท์ ก็ไปจับได้ว่ามีการปลอม ทบ.6 ทะเบียนพรรคการเมืองหมายเลข 6 ซึ่งมีสมาชิกย้อนหลังเข้ามาๆๆ แล้วผมก็รู้ข้อมูลภายในจากคุณสุขสันต์ว่ามีการรับจ้างแก้แผ่นดิสก์ของ กกต.ด้วย เพื่อที่เวลาเช็กไปที่อินเทอร์เน็ตแล้ว จะได้เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นสมาชิกอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพราะส่วนใหญ่ กกต.เขาจะเช็กที่อินเทอร์เน็ต เขาไม่ดูจากเอกสารต้นฉบับจริงสักเท่าไหร่ แต่กระบวนการโกง เขาโกง 2 อย่าง คือ แก้ทั้งเอกสารจริง แก้ทั้งดิสก์ที่เอาไปใส่ในอินเทอร์เน็ต ก็เลยเปิดเผยมา” นี่เป็นคำพูดของผู้เปิดโปงปมจ้างพรรคเล็ก ล้มทักษิณ

ศาลพิพากษาให้ การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ


ในระหว่างลาราชการ ทักษิณ ได้เดินทางเยือน และพบปะหารือ เป็นการส่วนตัว กับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 30 เมษายน

อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ได้มีคำพิพากษาให้ การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ หลังจากนั้นศาลฎีกาได้ตัดสินจำคุกและตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร เป็นเวลา 10 ปี ทำให้ทั้งสามคนจึงพ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทักษิณ ก็เดินทางกลับมาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤษภาคม และได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นวันเลือกตั้งใหม่ แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็เกิดการก่อรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

****ดูไปคล้ายๆ ทุกๆ ฝ่าย มีการวางแผนกันเป็นอย่างดี มีทั้งแผนที่คิดว่าฝ่ายของตัวเองทำมาแนบเนียนแล้ว แต่สุดท้ายก็โดนแผนซ้อนแผน ยาวไปสู่นำหลักฐานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ท้ายที่สุดจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ที่เซอร์ไพรส์ไปกว่านั้น "ทหารก่อการยึดอำนาจ" ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่นอกประเทศ ....เลือกตั้งใหม่เลยไม่เกิดขึ้น โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ...