ค้น-ยึด-จับได้ทันที
สนช.ไฟเขียวท่วมท้นผ่านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ติดหนวดให้อำนาจ รมว.ดิจิทัลฯบัญชาการแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ขั้นวิกฤติได้ทันที โดยไม่ต้อง ยื่นคำร้องขออนุญาตศาล และทุกคนต้องให้ความร่วมมือ เผยมีอำนาจทั้งการตรวจค้นสถานที่ การเข้าถึงข้อมูลและยึดอายัดคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงภัยคุกคามไซเบอร์ โทษผู้ฝ่าฝืนไม่ร่วมมือหนักจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท
ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ที่หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ก.พ. การประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วาระ 2-3 จำนวน 81 มาตรา ตามที่ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยนางเสาวณีย์ สุวรรณชีพ เป็นประธานพิจารณาเสร็จแล้ว มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มีอำนาจดำเนินการมากมาย อาทิ มาตรา 61 กรณีที่เห็นว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง ให้เลขาธิการ
...
กกม. มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการขอความร่วมมือจากบุคคลมาให้ข้อมูล การเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ การยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แต่จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อน โดยผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีเกิดภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ในระดับวิกฤติ ซึ่งมีความหมายถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศในวงกว้าง ทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ให้กับประชาชนล้มเหลวทั้งระบบ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันนั้น ให้เป็นอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดย กกม.อาจมอบหมายให้เลขาธิการ กกม.ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายล่วงหน้า โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล แต่หลังจากที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ต้องแจ้งรายละเอียดดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยที่ผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือแก่ กกม.โดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม สนช.ปรากฏว่า ไม่มีกรรมาธิการหรือ สนช.คนใดติดใจสงวนคำแปรญัตติ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด แต่ไม่มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามที่หลายฝ่ายให้ความเป็นห่วงแต่อย่างใด โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยคะแนน 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าในช่วงเช้าเวลา 10.00 น. ที่ประชุม สนช.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลวาระ 2-3 ด้วยคะแนน 161 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์การรวบรวม การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน โดยมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับ กับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือกิจกรรมในครอบครัว รวมถึงการคุ้มครองไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน ความมั่นคงทางการคลังของรัฐ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิต ตลอดจนข้อมูลบุคคลหรือนิติบุคคลที่รวบรวมข้อมูลไว้เพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม งานวรรณกรรมตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพ
ต่อมาเวลา 16.30 น. นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สนช.แถลงว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านการทำประชาพิจารณ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แล้ว กมธ.เชิญผู้เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็น และนำมาปรับแก้ไว้ในร่างกฎหมาย ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้นยืนยันว่าไม่มีการรวบอำนาจรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ มีการกำหนดประเภทภัยคุกคามไว้ชัดเจน ไม่มีส่วนใดของกฎหมายที่ใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่เน้นป้องกันกลุ่มคนมีเจตนาไม่ดีเท่านั้น การจะดำเนินการต่างๆต้องกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ การตรวจค้นจะต้องมีคำสั่งศาลก่อนอีกด้วย
ขณะที่ พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้มอบหมายให้ภาครัฐไปดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์นั้น ยืนยันว่าจะทำโดยพลการไม่ได้ ต้องได้รับอำนาจจากศาลก่อน ที่มีการกล่าวหากันก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลเก่า ขณะนี้ สนช.ได้ปรับแก้ไขกฎหมายแล้ว