ย้อนไปดูวิถีฟาดฟันทางการเมือง เมื่อปี 2556 ความพยายามของฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่พึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ได้มีแกนนำออกมาหยิบยกประเด็นจุดบอดต่างๆ นำข้อมูลโจมตี ปลุกระดมประชาชนที่คิดเหมือนกันพยายามออกมาประท้วงขับไล่เป็นระยะๆ หากแต่ว่าไม่มีผลกระทบใดๆ กับความแข็งแกร่งและเสียงข้างมากที่คอยสนับสนุนรัฐบาลยุคนั้น สมัยนั้น ...พยายามหาเหตุผลข้อเท็จจริงมาปั่นป่วนก่อม็อบปลุกกระแสแทบตาย ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งต่อมารัฐบาลพยายามชูร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง".....และนั่น คือจุดเริ่มต้นของการจุดไฟเผาตัวเอง

ร่างกฎหมาย "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" หรือ "นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย"

พ.ร.บ.ดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน" .... จุดพลิกผันสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เสนอโดย "นายวรชัย เหมะ" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ. ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมของนายวรชัย เหมะ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลได้แก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง "ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช." ที่สำคัญยังรวมถึง "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา "ฆ่า-เผา" และ "ผู้ทุจริตคอร์รัปชัน" รวมไปถึงการพา ทักษิณ กลับเข้ามาอยู่บ้านเกิดในเมืองไทย

...

แฟนคลับเพื่อไทย เสียงแตก ไม่โอเค นิรโทษกรรม ผู้สั่งฆ่าคนตาย


ถึงได้บอกไงว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ.สุดซอย รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดสู่การยุบสภาฯ เพราะนอกจากจะทวีคูณความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังทำให้คนเสื้อแดง หรือประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด มีการแบ่งแยกแตกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.กลุ่มคนเห็นด้วย (สนับสนุนเพื่อไทย) ต้องการจะเคลียร์ทุกอย่างทางการเมืองให้เป็นศูนย์ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คนที่เคยรับโทษทุกฝั่งฝ่าย หลุดพ้นจากคดี และเดินทางประเทศไทยต่อ ด้วยความมุ่งหวังที่ว่า ประเทศชาติจะพัฒนาขับเคลื่อนไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

2.กลุ่มคนไม่เห็นด้วย (สนับสนุนเพื่อไทย) รู้สึกไม่พอใจที่ออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสนับสนุนให้ล้างโทษของนักการเมืองที่มีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนเมื่อกลางปี 2553 รวมไปถึงการล้างโทษให้พวกที่เผาบ้านเผาเมือง คนกลุ่มนี้ถึงแม้จะมีใจสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์การต่อต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านทางโลกโซเชียล และต้องการให้ยับยั้งการนิรโทษกรรมคนผิดทั้งหมด

จากกระแสจุดไม่ติด กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่หล่นใส่ตูม ก่อกำเนิดมวลมหาประชาชน

ปัญหาเริ่มบานปลายขึ้น เมื่อกลุ่มคนที่คัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ออกมารวมตัวกันตามคำเชิญชวนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนก่อเกิดเป็นม็อบ กปปส. หรือ ม็อบนกหวีด หรือ "มวลมหาประชาชน" และหลังจากนั้น แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 เพราะต้านกระแสการชุมนุมไม่ไหว และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 การต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง" ก็ได้ยกระดับเป็นปฏิบัติการขับไล่รัฐบาล นำโดย 8 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ "ถอดสูท-ทิ้งสภา-เดินหน้าสู่ถนน" นำมวลชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (กปปส.) ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาชุมนุมขับไล่ต่อเนื่อง

คนเกลียดทักษิณ รวมตัวกันภายใต้การนำของลุงกำนัน

หลายคนออกตัวก่อนเลยว่า พวกเค้าไม่ได้ฝักใฝ่เลือกข้างพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่ออกมารวมตัวกัน เพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.เหมาเข่ง สุดซอย รู้สึกเหมือนเป็นการเอื้อผลประโยนช์ของตัวเองมากกว่าต้องการทำเพื่อส่วนรวม เหมือนว่าอยากจะพานายกฯ ทักษิณกลับเข้าเมืองไทย จนเกิด พ.ร.บ.สุดซอยขึ้นมารองรับ ... กลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน และคนไม่เอาทักษิณ ออกมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยโบกสะบัดธงชาติไทยมีสัญลักษณ์ลายธงชาติผูกติดบนศีรษะ หรือประดับตกแต่งตามร่างกาย เป่านกหวีดขับไล่กันครึกครื้น ไม่ต่างกับม็อบกู้ชาติเมื่อปี 2548-2549

ดารา นักแสดง ก็ออกตัวเปิดหน้าขึ้นเวทีปลุกใจกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ยกระดับการขับเคลื่อนรุนแรงขึ้น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง" ร่างกฎหมาย "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" หรือ "นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย" มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน"

กปปส. เดินเกมรุก กดดันทุกทาง ขัดขวางเลือกตั้ง


กลุ่มแกนนำ กปปส. ได้นัดรวมตัวประชนออกมาชุมนุม สร้างความปั่นป่วน กดดันด้วยยุทธวิธีเชิงรุก ตั้งแต่การเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เปิดปฏิบัติการ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ", ตั้ง 7 เวทีชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ไปจนถึงการปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง มีการนำมวลชนไปนั่งขวางทางประชาชนที่เดินทางเข้าไปใช้สิทธิ์ เกิดปัญหาบานปลายทำลายสถานที่เลือกตั้ง และกระทบกระทั่งกันเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งปี 2557 ต้องกลายเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม การออกมากดดันดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นการยั่วยุฝ่ายรัฐบาล ประหนึ่งต้องการให้ทหารออกมายุติเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดเอาไว้

22 พ.ค. 57 เกิดการรัฐประหาร


ท้ายสุด ขั้นตอนการสลายขั้ว ลดความขัดแย้งหาทางออกประเทศก็ได้เกิดขึ้น เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ทำการ "ยึดอำนาจ" ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 โดยส่งกำลังทหารลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 02.00 น. (ตีสอง) ของวันที่ 20 พ.ค.57 โดยได้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (กอ.รส.) แล้วประกาศ "พ.ร.บ.กฎอัยการศึก" ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ตั้งแต่ 03.00 น. (ตี 3) จากนั้นประกาศวัตถุประสงค์ให้หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัวประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งเชิญคู่ขัดแย้งทั้ง 7 ฝ่าย เข้าประชุมพร้อมกันที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี–รังสิต

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ให้แต่ละฝ่ายเสนอทางออก จากปัญหาความขัดแย้งในประเทศ โดยบรรยากาศการประชุมทุกคนยังอยู่ในสภาวะที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ก็ยังตกลงร่วมกันไม่ได้ โดยมีการให้การบ้านสำคัญกลับไปให้ทุกฝ่ายกลับไปหารือ

หลังจากนั้น เข้าสู่กระบวนการในวันที่ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายนำการบ้านที่ให้กลับไปคิดมาหารือต่อ โดยตัวแทนทั้ง 7 ฝ่าย ที่ต่างฝ่ายถือว่ามีธงมาก่อนแล้ว ได้เข้าห้องประชุม พร้อมกับถูกยึดโทรศัพท์ของตัวแทนทั้ง 7 ฝ่าย ภายหลังที่มีตัวแทนจาก 7 ฝ่าย ได้โพสต์รูปภาพถ่ายในที่ประชุมผ่านทางเฟซบุ๊กนำออกสู่สาธารณะ

ผบ.ทบ.ทุบโต๊ะ นำสู่การรัฐประหาร

ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเป็นห่วงคือเราไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหากันต่อไป หรือมีความขัดแย้งต่อไปโดยที่ไม่มีทางออกได้ ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวของตนเองก่อน คือพร้อมทำทุกอย่างให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว ทุกท่านให้เกียรติกองทัพ และการประกาศกฎอัยการศึกนั้น คิดว่าหลายท่านมีข้อขัดแย้ง แต่เรียนว่าจะทำอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้เกิดความสงบสุข และไม่ต้องมากังวลแทนตนเพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร ผมรับผิดชอบทุกประการ เพราะผมเป็นคนที่เกิดในแผ่นดินนี้ เป็นหนี้แผ่นดินนี้ ก็จำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ และพยายามใช้อำนาจความมั่นคงเป็นหลัก แต่มีความเกี่ยวพันกันในหลายมิติ หากก้าวล่วงอะไรไปบ้างหรือใช้อำนาจอะไรไปบ้างต้องขออภัย อย่างไรก็ตาม ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ

กระทั่งเวลา 17.07 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

"ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเขาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป"

*** คณะทหารในชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น เข้ายึดอำนาจในที่สุด ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกฝ่ายไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแม้ว่าจะมีม็อบมากมายหลายกลุ่มออกมาชุมนุม กดดันให้เข้าสู่การเลือกตั้ง ทางผู้มีอำนาจในรัฐบาลเอง ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ยาวไปสู่นางสาวยิงลักษณ์ ชินวัตร ต้องหนีคดีออกนอกประเทศตามพี่ชายไปอีกคน จวบจนวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่า "ขั้วอำนาจเก่า" จะกลับมาผงาดชูคออีกครั้ง คงต้องรอลุ้นหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่า....ผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไร อีกไม่นานเกินรอแล้ว.