หากจะถามถึงระยะเวลาการยึดครองอำนาจประชาชน ทหารก่อการปฏิวัติ หรือรัฐประหาร ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ขุดคุ้ยข้อมูลประวัติศาสตร์ การยึดอำนาจโดยทหาร ยุคสมัยไหนที่ทหาร ตรึงอำนาจเอาไว้ที่ตัวเองยาวนานที่สุด จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารมาแล้วกว่า 17 ครั้ง และเป็นประเทศที่ก่อการรัฐประหารมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก ส่วนทหารยศใหญ่ ที่ครองแชมป์อยู่ในอำนาจโดยการรัฐประหารยาวนานที่สุด ก็คือยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - จอมพลถนอม กิตติขจร
ฉากตอนการยึดอำนาจครั้งยาวนานที่สุดในโลก เริ่มต้นที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจครั้งแรก สมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ผลของการรัฐประหารดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้นำรัฐบาลที่เคยมาจากคณะราษฎรสิ้นสุดบทบาทลงทันที ต่อมาได้เชิญ "พจน์ สารสิน" เลขาธิการองค์การซีโต้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 กันยายน 2500 ต่อมาจัดเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2500
ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. มากที่สุดคือ 45 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 159 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.39 ที่นั่ง โดยจอมพลสฤษดิ์ แนะนำให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) รองหัวหน้าพรรคชาติสังคม ที่ได้ ส.ส. 9 ที่นั่ง ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ตั้งรัฐบาลขึ้นมา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง โดยประกาศให้ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และยกเลิกรัฐสภา พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
...
รัฐประหารครั้งนี้ถือว่า จอมพลสฤษดิ์ "ยึดอำนาจตัวเองก็ได้" โดยในเดือนมกราคม มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ "จอมพลสฤษดิ์" ใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา ทำให้ในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจ มีการใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก
กระทั่งภายหลัง จอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิตเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ โดยในที่สุด รัฐธรรมนูญที่ร่างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีการประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511” มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันเลือกตั้งครั้งแรก กินเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน
โดยผลการเลือกตั้ง จอมพลถนอม ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่เป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไทย ได้ที่นั่ง 74 ที่นั่ง ทำให้จอมพลถนอม รวมเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลตั้งรัฐบาลผสมและเป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่สอง ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง 55 ที่นั่ง เป็นแกนนำฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม ก็ทำรัฐประหารตัวเอง
***ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทยจารึกสถิติเอาไว้ว่า การยึดอำนาจเชื่อมรอยต่อระหว่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รับช่วงโดย จอมพลถนอม กิตติขจร จึงเป็นการยึดอำนาจที่ยาวนานที่สุดในโลก ระยะเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน