หลังจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแจ้งชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของแต่ละพรรค แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2562

เปรียบเสมือนเสียงระฆังยกแรกได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการบนสังเวียนการแข่งขัน ที่นับนิ้วแล้วเหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึง 50 วัน...ก็จะได้รู้ผล (อย่างไม่เป็นทางการ) กันว่า หลังห่างหายจากการเลือกตั้งมาหลายปี พรรคใดจะครองใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ และกวาดที่นั่ง ส.ส.ในสภาไปได้มากที่สุดในการเลือกตั้งคราวนี้

หากผู้สมัคร ส.ส. เปรียบเหมือนขุนพลที่เสนอตัวเข้าร่วมทำศึก “ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง” ก็ไม่น่าจะต่างไปจากอาวุธสำคัญที่ใช้ในการกรำศึกหาเสียง...ที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือประเทศ

การที่ผู้สมัครวางแผนทำป้ายหาเสียงเอาไว้ดี สามารถสื่อถึงตัวตน และนโยบายของพรรคออกมาอย่างมีภาพลักษณ์ ที่ดูน่าเชื่อถือศรัทธา ย่อมได้ใจผู้ที่พบเห็นกว่าป้ายหาเสียงที่ขาดคุณสมบัติดังว่า

ดังนั้นไอเดียที่ใช้ในการออกแบบหน้าป้ายให้ดูเตะตา น่าสนใจ ข้อความที่ใช้ในการหาเสียงที่สอดแทรกไว้ด้วยแนวคิดแปลกใหม่

ความรวดเร็วในการผลิต และช่วงชิงทำเลทองในการติดตั้งป้าย จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการกรำศึกเลือกตั้งทุกครั้ง

...

แต่กับการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีเงื่อนไขพิเศษ ต่างไปจากการหาเสียงเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ตรงที่ ถ้าการติดตั้งป้ายหาเสียง ผิดไปจากกฎเกณฑ์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ถือเป็นการชี้ชะตาในระดับคอขาดบาดตายกันเลยทีเดียว ว่าอาจทำให้ผู้สมัคร ส.ส.รายนั้น ตกม้าตาย เอาได้ง่ายๆ

เพราะการติดตั้งป้ายหาเสียงในกรุงเทพมหานครครั้งนี้ ทาง กกต.ได้หารือร่วมกับปลัด กทม. (เจ้าของพื้นที่) ออก “กฎเหล็ก” ในการใช้ป้ายเอาไว้ละเอียดยิบ

เป็นต้นว่า จำนวนแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครแต่ละรายจะมีได้ไม่เกินกว่า 2 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต นอกจากนี้ ป้ายหาเสียงเหล่านั้นยังต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซม. หรือ 1.30 เมตร และมีความยาวไม่เกิน 245 ซม. หรือ 2.45 เมตร

ส่วนป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ของพรรคการเมือง กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งแต่ละเขต เป็นต้น

โดยทาง กกต.ของกรุงเทพมหานคร จะมีคณะทำงาน และผู้ตรวจการเลือกตั้งออกตระเวนตรวจสอบจำนวนป้าย ขนาดป้าย รวมทั้ง สถานที่ปิดประกาศ หากพบว่ามีการละเมิดกฎเหล็กจะแจ้งให้ปลัด กทม.หรือ ผอ.เขต สั่งให้ผู้สมัครรายนั้นแก้ไขภายในกำหนดเวลา ถ้าพ้นกำหนดเวลาแล้วยังไม่แก้ไข กกต.จะเข้ารื้อถอน และคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครรายนั้น รวมทั้งส่งเรื่องให้วินิจฉัยไต่สวนชี้ขาดความผิด ตามกฎหมายต่อไป

ส่วนพื้นที่ในการปิดแผ่นป้ายหาเสียง กกต.กับ กทม.กำหนดว่า ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ปลอดภัย มั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพ และทัศนวิสัยที่ดี ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน และยานพาหนะ ไม่กีดขวางทางสัญจร การจราจร ไม่ติดทับซ้อนแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายอื่น

โดยให้ติดป้ายหาเสียงได้เฉพาะพื้นที่ที่กำหนด เช่น ตามเสาไฟฟ้า ต้นไม้ริมถนน ถนนและซอยที่เชื่อมต่อกับถนน ห้ามติดที่หน้าปากซอย ห้ามติดบนผิวการจราจร บนเกาะกลางถนน สะพานลอย รั้ว หรือกำแพง ผนังอาคารของทางราชการ รวมทั้งห้ามติดบนต้นไม้ และเสาไฟฟ้า บริเวณเกาะกลางถนน (ริมถนนติดได้)

นอกจากนี้ยังห้ามติดตั้งตามศาลาที่พักผู้โดยสาร และบริเวณโดยรอบในระยะ 10 เมตรจากตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ อนุสาวรีย์ ป้อมตำรวจ สุขาสาธารณะ สวนหย่อม สวนสาธารณะ วงเวียนทุกวงเวียน ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินทั้งสาย

เมื่อข้อกำหนดของ กกต.ออกมาเคร่งครัดเช่นนี้ การหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ จึงเห็นป้ายกองโจร (Street Cutout) ทำจากไวนิล ยิงโครงไม้ นำไปผูกติดไว้ตามเสาไฟฟ้า ไซส์ยอดฮิต 1.20X2.40 เมตร เรียงรายอยู่ บนเสาไฟฟ้าตามถนนสายหลัก ที่มีผู้คนสัญจรพลุกพล่าน...เต็มไปหมด

พวกคัตเอาต์ หรือป้ายยักษ์ ประเภทติดตั้งทีมองเห็นได้ไกลลิบเป็นกิโลฯนั้น เลิกฝันเฟื่องไปได้เลย เพราะการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.เล่นนับเป็นค่าใช้จ่ายละเอียดยิบ จึงไม่มีผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดกล้าใช้ เว้นแต่จะติดตั้งไว้ตามสาขาที่ทำการพรรคเท่านั้น

เมื่อพิจารณาเป็นรายพรรค จะเห็นว่าป้ายหาเสียงของ พรรคเพื่อไทย ใน กทม.คราวนี้ เน้นหนักไปที่การชูนโยบายพรรค มากกว่าจะโชว์หน้าตาของผู้สมัครแต่ละเขต เช่น เน้นเรื่องการสร้างโอกาส สร้างรายได้ โดยผู้สมัครที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ

ยกเว้นในเขตที่ทางพรรคค่อนข้างมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ในเขตนั้น จึงจะส่งผู้ลงสมัคร ส.ส. และขึ้นป้ายติดรูปผู้สมัคร ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ “เพื่อไทย” ไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขต นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตด้วยว่า ทางพรรคยังพยายามเลี่ยงไม่ส่งผู้ลงสมัครในบางเขต ที่มีพรรคการเมืองเพื่อนร่วมชะตากรรมอย่างประชาธิปัตย์ ส่งคนลงสมัครเพื่อไม่ให้เกิดการไปตัดคะแนนกันเอง

เทียบกับป้ายหาเสียงของ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งชูรูปของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค พร้อมนโยบายพรรค...แบบฉายเดี่ยว

ซึ่งหวังจะกวาดคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวง ที่เบื่อหน่ายกับพรรคและนักการเมืองรุ่นเก่า เน้นจุดขายที่การกล้าเสนอตัวเข้าไปเป็น ส.ส.ก้างขวางคอ เพื่อตัดงบซื้ออาวุธ ลดจำนวนนายพลที่มีอยู่เกลื่อนกองทัพ เลิกการเกณฑ์ทหาร (ให้ใช้วิธีสมัครแทน) และร่วมกันสร้างสวัสดิการแก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง

ถัดมาคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” เป็นหัวหน้าพรรค แม้ว่าเสียงระฆังยกแรกของการหาเสียงเลือกตั้งดังกระหึ่มมาแล้วหลายวัน แต่ป่านนี้หลายคนก็ยังไม่เคยเห็นป้ายหาเสียงของพรรคนี้เลยสักป้าย

เทียบกับความเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ เห็นได้ชัดว่า ใน กทม. และปริมณฑล พรรคนี้เน้นใช้ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่เป็นส่วนใหญ่ ผิดกับในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้อดีต ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆที่ย้ายพรรค มาลงแข่งกับผู้สมัครฯ ซึ่งเป็น ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ป้ายหาเสียงของพรรคนี้แต่ละป้าย จึงเน้นให้ความสำคัญกับความโดดเด่นของตัวผู้สมัครในแต่ละเขต

ขณะที่ ประชาธิปัตย์ อดีตพรรคที่เคยมี ส.ส.มากที่สุดใน กทม. หลังจากเสียงระฆังดังขึ้นน่าจะเรียกได้ว่า เป็นพรรคแรกๆที่มีความพร้อมกว่าใครในการติดตั้ง หรือยึดทำเลทองในการติดป้าย สังเกตได้ว่า หากเขตใดผู้สมัครเป็น ส.ส.เก่าในพื้นที่ หรือชาวบ้านรู้จักดีอยู่แล้ว ก็จะปล่อยให้ขึ้นป้ายฉายเดี่ยว ส่วนเขตใดที่ยังไม่อยู่ในข่ายนี้ มักใช้วิธีลงรูปหัวหน้าพรรคคู่กับผู้สมัคร ส.ส.ในเขตนั้น พร้อมชูนโยบายเน้นแก้จน สร้างคน และสร้างชาติ

อีกพรรคที่น่าสนใจไม่น้อย คือ พรรคประชาชนปฏิรูป ภายใต้การนำของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค มาในลีลาหาเสียงที่จัดว่าใหม่ แปลก แหวกแนวไม่ซ้ำใคร โดยชูนโยบายน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน โดยมีภาพของไพบูลย์ฉายเดี่ยวบนป้ายหาเสียง...แบบเดียวกับ “ธนาธร” แห่งพรรคอนาคตใหม่

“สงครามป้ายกองโจร” เริ่มขึ้นแล้ว แต่ศึกเลือกตั้งหาเสียงปี 62 ยังไม่จบ จึงอย่าเพิ่งนับศพทหาร อดใจรออีกนิดจะรู้ว่า หลังศึกครั้งนี้ผ่านพ้น ใครบ้างที่หายไป และเหลือรอดเป็นอัศวินตัวจริง.