ในสถานการณ์ที่กำลังผจญกับฝุ่นควัน ทางการยังเรียกมันว่า “เหตุรำคาญ” แต่ชาวบ้านบางพวกเรียกว่า “เหตุอุบัติภัย” ผมขอเอาเรื่องเล่าเรื่องในหนังสือเรื่องง่ายๆความหมายดีๆ (สำนักพิมพ์อินสปายร์ พ.ศ.2553) มาให้อ่านกันอีกครั้ง

ชายสองคน คนหนึ่งหนุ่ม อีกคนแก่ ชักชวนกันเข้าไปปลูกต้นหูหยางในทะเลทราย ปลูกแล้ว คนหนุ่มไปๆมาๆดูแลรดน้ำพรวนดินต้นไม้ ในระยะแรก เมื่อแน่ใจว่า มันจะรอดแน่ เขาก็ไม่มาอีก

ส่วนคนแก่นั้นขยันมาก รดน้ำพรวนดินทุกสามวัน ชาวบ้านก็เชื่อว่า ต้นหูหยางของเขาจะเติบโตได้ดีกว่า

ต้นหูหยางเป็นไม้ยืนต้นรูปทรงสูงชะลูด ใบไม้รวมกันที่ปลายยอด พบมากในแถบทะเลทราย มันทนต่อความแห้งแล้งและความเป็นกรดด่างของดินได้ดี

เชื่อกันว่า บางต้นอายุถึงพันปี กวีจีนซินเจียง ใช้ต้นหูหยางเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืน ความเด็ดเดี่ยวอดทน เปรียบเป็นความรักอมตะ

สองปีผ่านไปต้นหูหยางทั้งของคนหนุ่มคนแก่ก็เติบโต ลำต้นสูงใหญ่ไล่เลี่ยกัน

วันหนึ่ง พายุทะเลทรายก็มา คราวนี้มันพัดแรงมาก ทั้งต่อเนื่องยาวนานทั้งวัน

วันรุ่งขึ้น คนหนุ่มคนแก่ก็ชักชวนเพื่อนบ้านไปดูต้นหูหยาง ต้นในแปลงคนแก่ ถูกพายุพัดหักโค่นจำนวนมาก บางต้นถูกถอนทั้งรากและต้น เรื่องแปลก ต้นไม้ของคนหนุ่มทุกต้นยืนต้นอยู่ได้ แค่ใบหลุดร่วงไปบ้าง

คนแก่งุนงงสงสัย เขาถามคนหนุ่ม “มันเกิดอะไรขึ้น...”

คนหนุ่มบอกว่า การหมั่นพรวนดินรดน้ำทุกสามวัน รากของต้นไม้จึงไม่หยั่งลึกลงในดิน ส่วนต้นไม้ที่ถูกปล่อยทิ้ง เพื่อความอยู่รอด ก็ต้องดิ้นรนชอนไชรากลงไปให้ถึงแหล่งน้ำใต้ดิน

ต้นไม้ที่มีรากหยั่งลึกกว่า เมื่อเจอพายุทะเลทราย จึงไม่โค่นล้มไปได้ง่ายๆ

คำอธิบาย ความหมายดีๆของเรื่องเล่าเรื่องนี้ เปรียบต้นหูหยางกับมนุษย์ มนุษย์ที่เจออุปสรรคและความยากลำบากอยู่เสมอๆ นี่คือการปูพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดี

...

มนุษย์แบบนี้ มักจะมีอนาคตที่สดใสรุ่งเรือง

ทุกครั้งที่ผ่านอุปสรรคขวากหนามได้ ไม่เพียงจะแข็งแกร่งขึ้น มุมมองต่อโลกก็ยิ่งกว้างขึ้น

ต้นหูหยางที่รากหยั่งลึก ใช้ความยืดหยุ่นเอาตัวรอดจากพายุทะเลทราย เหมือนมนุษย์ที่ผ่านความอยุติธรรมของโชคชะตามาได้ โอกาสแห่งความสำเร็จก็ใกล้

เรื่องเล่าต้นหูหยาง สอนว่า อย่ายอมรับการทะนุถนอมที่มากเกินไป เพราะไม่มีใครเติบโตแทนเราได้เลย เราจะต้องเติบโตต่อไป ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

เมืองไทยเรา หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในเมืองถูกบอกว่า ไม่แค่ฝุ่นควันจากโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ละอองไอเสียจากรถยนต์ที่เราขับไปติดแออัด...เป็นตัวการก่อโรคมะเร็ง

ในสำนึกแห่งความรักตัวกลัวภัย กลัวการตายผ่อนส่ง ความรู้ใหม่ก็เติมเข้ามา ฝุ่นควันเจ้าพีเอ็ม 2.5 ที่ว่าเป็นมหาภัยของคนเมือง พิษสงมันไม่แตกต่างจาก “ไอหมอก” ที่ปกคลุมเมืองไหนๆ

กระทั่งเมืองสามหมอก ที่แม่ฮ่องสอน

ความตระหนักรู้ใหม่นี้ สอนให้ปรับตัวปรับใจ รับมือกับมันได้ดีกว่า ตอนที่เราไม่รู้อะไรเลย

อย่าไปเหมาเอาโทษผู้นำ ที่ความรู้สึกช้า...ปฏิกิริยานายกฯประยุทธ์ ผมมองว่า ท่านมีทั้งความเข้มแข็งมั่นคง และความโอนอ่อนผ่อนตาม ยืดหยุ่นได้เหมือนต้นหูหยาง

และท่านจะยืนหยัดอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ต้องลาออก

ไหนๆก็แต่งเพลงขอเวลามาแล้วก็ใช้เวลาต่อไป แต่ตามกติกาใหม่ เมื่อประชาชนเขาไม่เอา ถึงเวลาท่านก็ต้องออกไปเอง.

กิเลน ประลองเชิง