องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนน ดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทย ได้ 36 คะแนน ลดลงมาอยู่ลำดับที่ 99 จากจำนวน 180 ประเทศ และ อยู่อันดับที่ 5 ของอาเซียน
จากการแถลงของ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. การประกาศค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ปี 2018 ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน ประเทศที่โปร่งใสมากที่สุด คือ เดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ส่วน ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและลำดับตามตารางคะแนนลดลง
ในประเทศอาเซียนด้วยกัน สิงคโปร์ ได้ 85 คะแนน เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน อันดับ 2 บรูไน อันดับ 3 มาเลเซีย อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 ไทย อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ อันดับ 7 เวียดนาม อันดับ 8 เมียนมา อันดับ 9 ลาว และอันดับ 10 กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชันมีคะแนนเท่าเดิม ทั้งนี้พิจารณาจากองค์ประกอบ 1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนของ ประเทศไทย ได้มีการปรับปรุงกกฎหมายให้สอดคล้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติของทางราชการ รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และส่วนที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจนักธุรกิจท้องถิ่นและนักธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ระหว่างเดือน ม.ค.-ต้นเดือนมี.ค.2018 มีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งมุมมองจากนักธุรกิจในประเทศจะมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยปี 2018 มีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2017
...
ในมุมมองของ นักธุรกิจต่างชาติ กลับมองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศที่มีต่อการแก้ปัญหาการทุจริตของภาครัฐ นอกจากกระแสการทุจริตของข้าราชการระดับสูงในอดีต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าคะแนนลดลงคือ การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ และต่างชาติมองว่า ไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีข้อจำกัดเรื่องของสิทธิและเสรีภาพบางประการ รวมทั้งเรื่องความสงบเรียบร้อยของประเทศ
การเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้นำไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นในด้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งการคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมืองด้วย
เศรษฐกิจ การเมือง และคอร์รัปชัน มีความคาบเกี่ยวในลักษณะที่สัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ความไม่มั่นคงของระบบการปกครอง ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะเป็นปัจจัยและอุปสรรคที่จะทำให้ค่าการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นหรือลดลง คอร์รัปชันจะลดลงได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาครัฐ เอกชนและประชาชน ถ่วงดุล โปร่งใส ตรวจสอบได้.
หมัดเหล็ก