ช่วงนี้พรรคการเมืองเริ่มเปิด “นโยบายหาเสียง” กันแล้ว หนึ่งในนโยบายยอดนิยม คือ “ประชานิยมลดความเหลื่อมล้ำ” ผมไม่แน่ใจว่า พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เข้าใจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีรายละเอียด แต่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมากมาย เช่น เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง ทรัพย์สิน การศึกษา ไปจนถึง โอกาสการทำมาหากิน เห็นมีแต่นโยบายประชานิยม “แจกแหลก” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

การแจกอย่างเดียว พิสูจน์มาหลายทศวรรษแล้ว ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่กลับ สร้างความอ่อนแอให้ประชาชน แทนที่จะ สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

ในที่ประชุม World Economic Forum (WEF) 2019 เมืองดาวอส ที่เพิ่งจบลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Oxfam องค์กรต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้เปิดเผยรายงานในที่ประชุมว่า มหาเศรษฐีโลก 26 คน ครองความมั่งคั่งเท่ากับประชากรโลก 3,800 ล้านคน คนรวยมีแต่รวยขึ้น คนจนมีแต่จนลง ปี 2018 ที่ผ่านมา คนรวย 2,200 คนทั่วโลก มีความร่ำรวยเพิ่มขึ้น 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29.7 ล้านล้านบาท รวยเพิ่มขึ้นวันละ 2,500 ล้านดอลลาร์ วันละ 82,500 ล้านบาท

ตัวอย่างเช่น นายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ อเมซอน ที่รวยที่สุดในโลกอันดับ 1 มีความมั่งคั่งกว่า 112,000 ล้านดอลลาร์ ราว 3.696 ล้านล้านบาท แค่ 1% ของทรัพย์สินเจฟฟ์ เบซอส จะมีมูลค่าเท่ากับ งบประมาณสุขภาพประชากร 105 ล้านคนของเอธิโอเปีย

ในรายงาน “ความเหลื่อมล้ำโลก 2018” ระบุว่า ระหว่างปี 1980–2016 คนจนที่สุดในโลก 50% มีสัดส่วนรายได้ 12 เซนต์ต่อรายได้ทุก 1 ดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในโลก ขณะที่ คนรวย 1% มีสัดส่วนรายได้ 27 เซนต์ต่อรายได้ทุก 1 ดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในโลก

...

อ็อกแฟม ระบุว่า ถ้าเก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” จากมหาเศรษฐีเหล่านี้เพียง 1% จะได้เงินราว 418,000 ล้านดอลลาร์ 13.79 ล้านล้านบาท เป็นเงินมากพอจะ ช่วยเหลือเด็กยากจนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือได้ทั้งโลก

รวมทั้ง บริการสุขภาพ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้ต้องตายปีละ 3 ล้านคนเลยทีเดียว

หัวข้อ “การลดความเหลื่อมล้ำ” กำลังฮิตทั่วโลก จึงไม่แปลกที่ นักการเมืองไทยจะชูประเด็นนี้ แต่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ว่าจะทำอย่างไร

นโยบาย “เก็บภาษีคนรวย” ก็กำลังฮิตในสหรัฐฯและยุโรป แต่นักการเมืองไทยไม่กล้าพูดถึง เพราะรวยล้นกันทุกคน สัปดาห์ก่อน นางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเสตต์ พรรคเดโมแครต ที่ประกาศจะลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2020 ได้เสนอนโยบายภาษีใหม่ “เก็บภาษีคนรวย” หรือ Wealth Tax สำหรับมหาเศรษฐี หรือ “Ultra–Millionaire Tax” โดย เก็บภาษีจากมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่ง 50 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 0.1% ของครัวเรือนสหรัฐฯ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2.75 ล้านล้านดอลลาร์ 90 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี เพื่อนำไป “ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” และ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก

วอร์เรน ให้เหตุผลในการ เก็บภาษีคนรวย ว่า ความไม่เสมอภาคในความร่ำรวย มีช่องว่างที่กว้างใหญ่กว่า ความไม่เสมอภาคทางรายได้ ทุกวันนี้ คนอเมริกัน 1% ที่มีรายได้สูงสุด ก็มีรายได้เพียง 20% ของรายได้ทั้งหมดในสหรัฐฯ แต่ มหาเศรษฐี 1% กลับครองความมั่งคั่งถึง 40% ของความมั่งคั่งในสหรัฐฯ

ประเด็น “เก็บภาษีคนรวย” นี้ คงโต้กันสนุกในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปีหน้า 2020 ความจริง นิตยสารฟอร์บส์ ก็เคยรายงานความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่งในเมืองไทยมาแล้วจากการจัดอันดับ มหาเศรษฐีไทยปี 2561 ว่า ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีไทย 5 อันดับแรก รวมกันเท่ากับ 94,800 ล้านดอลลาร์ ราว 3.12 ล้านล้านบาท รวยกว่า ความมั่งคั่งของคนไทย 47 ล้านคนรวมกัน ซึ่งมีความมั่งคั่งเพียง 92,400 ล้านดอลลาร์ 3.04 ล้านล้านบาท เรื่องเก็บภาษีคนรวย นักการเมืองไทย แค่คิดก็ไม่กล้าแล้ว เพราะเป็นนักการเมืองแล้วรวยกันทุกคน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”