ตำราเรียนมัธยมต้นรุ่นผมเคยเขียนว่า พระเจ้าพรหม กษัตริย์แห่งเวียงไชยปราการ เป็น “มหาราช” พระองค์แรกของไทย แต่ตำรารุ่นต่อๆมา ผมหาอ่านไม่เจอ

รองศาสตราจารย์ดนัย ไชยโยธา เขียนไว้ในนามานุกรมประวัติศาสตร์ไทย (โอเดียนสโตร์ พ.ศ.2548) คงเข้าใจความนัยนี้ จึงเขียนเลี่ยงข้อท้วงติงของผู้รู้เอาไว้ พระเจ้าพรหม เป็น “มหาราชองค์แรกแห่งล้านนา”

พระเจ้าพรหมว่า เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าพังคราช กษัตริย์อาณาจักรโยนกเชียงแสน อาณาจักรชนชาติไทยสายหนึ่ง เมื่อพระยาขอมดำมีอำนาจ ชิงเมืองโยนกเชียงแสนได้ พระเจ้าพังคราชทิ้งเมือง ไปตั้งหลักอยู่ที่เวียงสีทอง

ช่วงเวลาที่เป็นเมืองขึ้นขอม พระเจ้าพรหมประสูติ ตำราหลายเล่มบันทึกไว้ไม่ตรงกัน บางตำรา พ.ศ.1464 บางตำรา 1641 และบางตำรา 1583 เมื่อมีพระชันษา 13 พรรษา ทรงจับช้างเผือกได้เชือกหนึ่ง ทรงให้ชื่อ “ช้างพานคำ”

ช้างเผือกเชือกนี้ เป็นความหวังใหม่ พระเจ้าพังคราชทรงสั่งให้ขุดเวียงสีทองให้มีน้ำเต็มบริบูรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสีทอง เป็น “เวียงพานคำ” ตามชื่อช้าง

ฝากความหวังไว้กับพระราชโอรส ที่นับวันจะเติบใหญ่

พระเจ้าพรหม ขอร้องพระราชบิดา ให้ประกาศอิสรภาพจากพระยาขอมดำ เลิกการส่งส่วย สามปีต่อมา พระยาขอมดำยกทัพใหญ่มากำราบ

ปีนั้น พระเจ้าพรหมมีชันษา 16 หนุ่มคะนองเต็มที่ ทรงช้างเผือกพานคำออกรบ แต่ยังไม่ทันได้รบ ช้างพระยาขอมดำก็ตกใจกลัวช้างเผือกพานคำ เตลิดหนี ช้างบริวารเห็นเจ้านายหนี ก็พลอยหนีตาม

พระเจ้าพรหมได้ที นำทัพตามไล่กองทัพพระยาขอมดำไปถึงเมืองโยนกเชียงแสน รบกันไม่ทันไร พระยาขอมดำก็ถอดใจทิ้งเมือง หนี ทูลเชิญพระราชบิดากลับมาครองโยนกเชียงแสนอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.1480

นับว่าเผ่าไทยสายนี้ เป็นสายแรกที่ประกาศเอกราช พ้นจากอำนาจขอม

...

พระเจ้าพรหมปฏิเสธตำแหน่งอุปราชโยนกเชียงแสน หลังทรงสมรสกับนางแก้วสุภา ราชธิดาพระยาเรืองแก้วแห่งเชียงไชยนารายณ์ ก็ยกพลไปสร้างเมืองใหม่ทางลำน้ำกก ทางใต้โยนกเชียงแสน

ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า เวียงไชยปราการ

นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เชียงราย ทรงปกครองเวียงไชยปราการ 60 ปี เสด็จสวรรคตราวปี พ.ศ.1540

ผมอ่านเรื่องพระเจ้าพรหมมหาราชจบ เปิดนามานุกรมเล่มอาจารย์ดนัยอ่านต่อก็พบว่า พ่อขุนรามคำแหงขี่ช้างเนกพล ชนช้างชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด และต่อมาทรงร่วมกับพ่อขุนผาเมือง ปลดแอกขอม ชิงสุโขทัยคืน เป็นมหาราชองค์ต่อมา

สมเด็จพระนเรศวรทรงถูกยกย่องเป็นมหาราช หลังชัยชนะสงครามยุทธหัตถี

สมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์ได้ก็เพราะคุม “กองช้าง” กระทั่งขุนหลวงสรศักดิ์ขี่ช้างพลายซ่อม ช้างเพชฌฆาต ลงน้ำขึ้นน้ำได้ สมเด็จพระนารายณ์โปรดมาก

ต่อจากสมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ ก็เป็นพระเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ต่อมา

ทุกพระองค์ที่ทรงอำนาจ ล้วนแต่เก่งทางใช้ช้าง เป็นอาวุธหนักหักหาญศัตรู

สรุปเรื่องช้างของกษัตริย์ไทย ผมดูโฆษณารณรงค์ให้เลิกใช้เลิกสะสมงาช้าง ฟังประโยค หยุดซื้อ เท่ากับหยุดฆ่า จากปากคุณใหม่ ดาวิกา แล้วซาบซึ้งมากขึ้น

ช้างไทยเหลือน้อยเต็มที ป่าที่ช้างอยู่ได้คนก็ตัดถนนรุก ชาวบ้านทำสวนทำไร่ในเขตป่า จนเกิดปัญหา คนรุกป่ารบกวนช้าง หรือช้างบุกไร่รบกวนชาวบ้าน

นึกถึงช้างเผือกพานคำของพระเจ้าพรหมมหาราช เอาไว้ ถ้าไม่มีช้าง กว่าคนไทยจะหลุดจากแอกขอมได้ คงนานช้ากว่าที่เป็น

ไม่แน่ด้วยว่า เผ่าไทยอาจมีชะตากรรมเดียวกับเผ่ามอญ

รบแพ้พม่าไม่มีชาติไม่มีแผ่นดินของตัวเอง.

กิเลน ประลองเชิง