ประเด็นร้อนข้ามปี กรณีที่ สนช. เร่งผลักดันให้มีการ ออกกฎหมายปลดล็อกการใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่างผิดปกติ รวบรัดการพิจารณาและมีการ ส่งร่าง พ.ร.บ.ให้กับ สนช.ศึกษาเนื้อหาของกฎหมายเพียงไม่กี่วันเท่านั้น จนเป็นที่สับสนว่า การปลดล็อกกัญชา ครั้งนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เนื่องจากกัญชาถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง จึงไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอย่างจริงจัง แม้ในต่างประเทศเองก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นยาเสพติดต้องห้าม มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่อนุญาตให้ใช้กัญชาภายใต้การควบคุมได้
ยกตัวอย่าง ประเทศแคนาดา อนุญาตให้ใช้กัญชาได้ แต่มีการศึกษาผลดีผลเสียของการใช้กัญชา มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลไปสู่ประชาชนให้รู้ถึงคุณและโทษของกัญชาอย่างดีแล้วจึงอนุมัติให้ใช้กัญชาเมื่อไม่นานมานี้เอง มีวันให้ใช้กัญชาเสรีโดยกำหนดพื้นที่ให้ ปรากฏว่าก็มีประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้น มาเสพกัญชากันอย่างเปิดเผยในสถานที่สาธารณะแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปอยู่ดี
ที่ตั้งข้อสังเกตถึงการเร่งรีบออก พ.ร.บ.กัญชา เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามจาก บริษัทต่างชาติ ยื่น คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชาต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย มานานเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะติดว่า กัญชาเป็นยาเสพติด จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรให้ได้ ประกอบกับยังไม่มีการทดลองวิจัยกัญชาอย่างเป็นทางการ จึงนำมาอ้างอิงจากผลการวิจัยไม่ได้
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้เวลาในการร่างแค่ 2 เดือน โดยมี สนช. สมชาย แสวงการ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ มี พล.อ.รังสาทย์ แช่มเชื้อ เป็นเลขานุการ และ ผศ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ เป็นโฆษกกรรมาธิการ จำเป็นต้องบันทึกชื่อของบุคคลเหล่านี้เอาไว้เพื่อจะได้มีผู้รับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังจากกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ รวมทั้งความเชื่อมโยงกับบุคคลที่สนับสนุนต้องการให้ กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้
...
ที่ตั้งข้อสังเกตประเด็นต่อไปเหตุใดจึงต้องแยก กฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด (พ.ร.บ.) กัญชา ออกจาก ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ใช้เวลาร่างมาเกือบ 2 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบกับสังคมไทยโดยตรง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าต้องการผลักดันเรื่องกัญชาออกมาด้วยความรีบเร่งจริงๆ
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ แน่นอนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนต่างชาติชัดเจน เพราะใน ม.22 และ ม.25 มีการเพิ่มบทนิรโทษกรรมในระหว่างการพิจารณากฎหมายด้วย โดยเฉพาะที่ขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาเอาไว้แล้ว สำหรับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นกฎหมายแม่บทในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ เสนอโดยรัฐบาล ใช้เวลาในการจัดทำถึง 2 ปีเต็ม พิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านยาเสพติดกว่า 30 คน เป็นการนำกฎหมายยาเสพติดทั้ง 6 ฉบับมาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันโดยเน้นการป้องกันควบคู่กับการปราบปรามให้โอกาสผู้ติดยาเข้ารับการรักษาโดยไม่มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดี แต่เพิ่มโทษกับนายทุนค้ายาเสพติดรายใหญ่แบบเด็ดขาด บทสรุปของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใครได้ประโยชน์และใครเสียประโยชน์ โดยเฉพาะ สนช. ที่เสนอกฎหมายฉบับนี้
ที่เลวร้ายกว่านั้นคือจะมียาเสพติดประเภทอื่นเช่นฝิ่น หลุดจากการควบคุมด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th