หัวหน้า ปชป.เผย ได้ตัวผู้สมัคร ส.ส.ครบ ประชุมกก.บริหารพรรค 6 ม.ค. แขวะรัฐระวังเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ หวังไม่ใช้ม.44 กระทบเลือกตั้ง ไม่ก้าวล่วง ปมดัน 'ชัชชาติ' ขึ้นเบอร์ 1 พท.

วันที่ 2 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นก่อนเดือนพฤษภาคม ซึ่งขณะนี้ที่รอกันอยู่ก็คือ การตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง เมื่อบังคับใช้แล้วทาง กกต. จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน โดยให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกา หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา วันนี้ การเลือกตั้งจะเกิดได้ช้าที่สุด ช่วงต้นเดือนมีนาคม ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญ มั่นใจว่า รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในขณะนั้น ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ และพสกนิกรชาวไทยก็คงจะรวมใจกันให้พระราชพิธีเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ ราบรื่น

สิ่งที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการ หลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคการเมืองสามารถเตรียมการได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาลงมา ก็จะมีกติกาเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น การหาเสียงหรือการทำอะไรที่มีผลต่อคะแนนเสียง จะถูกนับเป็นค่าใช้จ่าย และต้องไม่เกินตามจำนวนที่ กกต.กำหนด และความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งกับวันสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะตามมาภายใน 5 วัน ส่วนการเตรียมความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีการกำชับสมาชิกและผู้สมัครทุกคนว่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

สำหรับการคัดเลือกผู้สมัครที่ยังมีหลายเขตไม่ลงตัว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการยังเดินหน้าไปตามปกติ ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็มีการประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกรอบเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง วันที่ 6 มกราคม ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปเรียบร้อยทั้งหมด

...

ส่วนกรณีที่รองหัวหน้าพรรค ซึ่งดูแลภาคใต้ ระบุว่า เตรียมหาผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแทน นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.จังหวัดชุมพร นั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ เพราะคณะกรรมการบริหารพรรค ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากข่าวสารที่ปรากฏในพื้นที่ยังมีความสับสนอยู่ ขณะนี้ต้องการให้นายชุมพล เข้ามาคุยกับพรรคว่า จะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร หากสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแล้วคะแนนเสียงในชุมพรทุกเขตเลือกตั้ง ทุกคนจะต้องมาช่วยกันสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ให้มากที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ย้ำด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะพูดถึงการจับมือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยืนยันว่า แนวทางใหญ่ๆ ตอนนี้มี 3 แนวทาง คือ แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ แนวทางของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน และแนวทางของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องแข่งขันกันเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือก แล้วหลังจากนั้น จึงเป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ บอกแล้วว่า จะเป็นรัฐบาลก็ต่อเมื่อคนที่มาจับมือจัดตั้งรัฐบาล สามารถร่วมอุดมการณ์ด้วยกันได้ หากร่วมอุดมการณ์กันไม่ได้แล้วทำงานด้วยกัน เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว พรรคประชาธิปัตย์ ก็คงไม่เห็นประโยชน์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลในสถานการณ์เช่นนั้น จึงขอกับพี่น้องประชาชนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก เพื่อนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้า จึงไม่มีความจำเป็นจะไปคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ

สำหรับความมั่นใจของพรรคเพื่อไทย ที่จะได้จำนวนที่นั่งมากกว่า 220 เสียง และสนับสนุน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ บอกว่า คงไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องนี้ เพราะแต่ละพรรคการเมืองมีระบบไม่เหมือนกัน แต่ที่ตนเองเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็เพราะสมาชิกเลือก จึงมีความชัดเจน เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่า หัวหน้าพรรคมาจากการคัดเลือกของสมาชิก และหัวหน้าพรรคเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้การเมืองไทยมีมาตรฐานเหมือนประเทศอื่น

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งว่า ต้องดูที่พฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ในอดีตช่วงที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีคนจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็จะให้ออกจากตำแหน่ง เพราะเป็นหลักการเรื่องธรรมาภิบาล

นายอภิสิทธิ์ ยังหวังว่า จะไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในช่วงการเลือกตั้ง เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะกระบวนการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม บั่นทอนความเชื่อมั่นความเชื่อถือของการเลือกตั้ง