ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้ นายโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้กรณีการถือสัญชาติอังกฤษของนายกรัฐมนตรี เป็นช่องทางฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้
เมื่อเวลา 13.50น. วันที่ 1ก.พ. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความเห็นผ่านทางทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ กรณีที่ ทนายความ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศต่อรัฐบาลไทย กรณีรัฐบาลไทยสั่งสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพว่า ไม่สามารถฟ้องได้ ว่า นายกรัฐมนตรี จะมีสัญชาติเป็นคนประเทศอังกฤษหรือไม่ เพราะการฟ้องร้องจะต้องเป็นการฟ้องรัฐบาล ไม่ใช่ตัวบุคคล ขณะที่ ส่วนตัวไม่เข้าใจว่านำเรื่องดังกล่าวไปผูกโยงสัญชาตินายกรัฐมนตรีได้อย่างไร
ทั้งนี้เพราะ หากยังจำได้ กลุ่มนปช.นำโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. และนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส. สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เองก็เคยนำเรื่องไปปรึกษากับ รองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันแล้วว่า คดีนี้ฟ้องไม่ได้ กรณีที่นายโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ออกมาชี้ถึงประเด็นดังกล่าว เห็นเป็นเพียงกลยุทธทางการเมืองต้องการ ดิสเครดิต นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่านั้น
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชน ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง ยังกล่าวถึงกรณีนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายเสื้อแดงจะยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในคดีการเสียชีวิต 89 ศพ โดยอ้างว่าอธิบดีดีเอสไอ เป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) อาจจะสอบสวนไปตามธงของ ศอฉ.ต้องการว่า ตนขอยืนยันว่าการทำหน้าที่ของดีเอสไอได้ทำตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา การที่ตนเป็นกรรมการ ศอฉ.จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการสอบสวนหรือบิดเบือนเป็นอันขาด เพราะคดีนี้ไม่ได้สอบสวนเพียงลำพังแต่ทำเป็นรูปคณะพนักงานสอบสวน และที่สำคัญมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมสอบสวนด้วย จึงเป็นหลักประกันได้ว่า การสอบสวนจะตรงไปตรงมา ดังนั้นข้อคิดเห็นของนายโรเบิร์ต ตนจึงไม่ขอแสดงความเห็นเพราะรัฐบาลได้มอบกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง ผู้สื่อข่ามถามว่า กรณีที่นายโรเบิร์ต จะนำคดี 89 ศพ ไปฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานะองค์กรรับผิดชอบคดีมองว่าจะทำได้หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาของฝ่ายจำเลยที่ต้องดิ้นรนว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่รู้สึกแปลกใจ แต่รองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศเคยให้สัมภาษณ์ในประเทศไทยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ
อธิบดีดีเอสไอ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการทำสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ หากไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นคนฆ่าประชาชนก็จะระบุว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงว่า การกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาสำนวนการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิต 89 ศพ ของดีเอสไอสรุปค่อนข้างชัดเจนโดยแยกพฤติการณ์การกระทำความผิดออกเป็น 3 ส่วน กลุ่มแรกมีความชัดเจนว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงกลุ่มการ์ดฮาร์ดคอร์ เนื่องจากเป็นการยิงเอ็ม 79 ใส่ทหาร ตำรวจ และประชาชน โดยกลุ่มการ์ดชุดดำ ซึ่งอาวุธเอ็ม 79 ไม่ใช่อาวุธประจำกายของทหารและตำรวจ โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าชุดปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้เบิกใช้เครื่องยิงเอ็ม79 ในส่วนของการ์ดชุดดำก็ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วจำนวนหนึ่ง
...
นายธาริต กล่าวอีกว่า สำนวนคดีกลุ่มที่ 2 เป็นการสรุปสำนวนเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต จึงได้ส่งสำนวนให้ตำรวจพื้นที่ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพใหม่ ซึ่งในที่สุดคดีในกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 13 ศพ อาจมีการนำเสนอให้ศาลไต่สวน สำหรับคดีการเสียชีวิตในกลุ่มที่ 3 ยอมรับว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากลุ่มใดเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานและพยานบ่งชี้จึงจะเห็นได้ว่าดีเอสไอไม่ได้สอบสวนโดยไร้พยานหลักฐาน ตามที่นายอัมสเตอร์ดัมกล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำแถลงและคำสัมภาษณ์ของนายอัมสเตอร์ดัมอย่างละเอียดแล้ว
ส่วนกรณีที่นายอัมสเตอร์ดัม กล่าวหาว่าการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงไม่ได้รับการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีอิสระในการทำงาน นายธาริต กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอสอบสวนด้วยความเป็นอิสระตรงไปตรงมา การสรุปสำนวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยแยกออกเป็น 3 กลุ่ม เป็นเครื่องยืนยันถึงความโปร่งใส