"อุเทน" ห่วงเสียงข้างมากศาล รธน.วางบรรทัดฐาน "ดอน" ไม่ขาดคุณสมบัติ รมต. ถ่างช่องโหว่นักการเมืองถือหุ้นเกิน ก.ม.กำหนดในอนาคต ชี้ข้อมูล กกต.ระบุชัด "เมียดอน" ถือเกินเวลาที่ ก.ม.ขีดไว้ เชื่อปรากฏในคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อยที่ต้องนำมาศึกษาโดยละเอียด ปูด "นายกฯ" อุ้ม รมว.กต.หวั่น ม.157 ย้อนเข้าตัว...


เมื่อวันที่ 2 พ.ย.61 นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว จากกรณีภรรยาของนายดอน ถือหุ้นบริษัทเอกชนเกิน 5% ซึ่งขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า แม้มติเสียงข้างมากจะเพียงพอที่จะทำให้เรื่องยุติ แต่โดยส่วนตัวในฐานะที่ติดตามประเด็นการบังคับใช้กฎหมายของประเทศมาตลอด ก็มีความเป็นห่วงว่าดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในกรณีของนายดอน จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานไว้ในอนาคต จนทำให้บทบัญญัติอันเกี่ยวกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต่อการถือครองหุ้นหรือทรัพย์สินของรัฐมนตรีและข้าราชการจะมีช่องโหว่ กระทบถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ถึงขนาดผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มั่นใจว่าจะเป็นรัฐบาลฉบับปราบโกง จะมีปัญหาต่อไปในภายภาคหน้า ด้วยมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าข่ายดุลพินิจที่ผิดปกติ อีกทั้งดูเหมือนจะค้านสายตาผู้ที่ติดตามกรณีนี้จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แต่ก็ไม่สามารถก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลฯได้

นายอุเทน กล่าวอีกว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 187 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 สาระสำคัญกำหนดว่า รัฐมนตรี และคู่สมรส รวมไปถึงบุตร ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หากถืออยู่ต้องดำเนินการโอนให้ขาดจากการถือครองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง อันมีเจตนารมณ์ต้องการให้เป็นหลักประกันให้การบริหารงานของรัฐมนตรีไม่ให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวขัดกับผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้ตุลาการฯ เสียงข้างมากมิได้นับย้อนไปถึงครั้งที่นายดอนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค.58 แต่ให้นับวันแรกหลังรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 60 และระบุว่าภรรยานานดอนมีการถ่ายโอนหุ้นในหลายบริษัท จนเหลือเพียง 4% เมื่อวันที่ 30 เม.ย.60 แต่ข้อมูลของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ยื่นให้ระบุว่าจนถึงเดือน ต.ค.60 ก็ยังมีคำยืนยันจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ภรรยายังถือหุ้นในบริษัทเอกชนเกิน 5% อยู่ในเวลานั้น ซึ่งล่วงเลยจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับไปเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้เชื่อว่าจะปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของตุลาการฯ เสียงข้างน้อย ที่ควรมีการนำมาศึกษาภายหลังที่จะมีการเปิดเผยออกมาด้วย

...

นายอุเทน กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริงประเด็นนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ด้วยข้อเท็จจริงก็มีปรากฏอยู่ อีกทั้งนายดอนก็ทราบดีถึงคุณสมบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญของตัวเอง เพียงแต่อ้างว่าไม่ได้มีเจตนาเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ผู้นำรัฐบาล ซึ่งในที่นี่ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ควรดำเนินการปรับนายดอนพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่ทราบปัญหา เพื่อรักษาไว้ซึ่งบรรทัดฐานที่ดี และสปิริตที่เหนือกว่ารัฐบาลของนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง อีกทั้งผลงานของนายดอนก็ไม่ได้โดดเด่นถึงขนาดที่รัฐบาลจะขาดไม่ได้ หลายๆ ครั้ง รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์แสดงความติดเห็นไม่สมกับผู้มีประสบการณ์นักการทูตมาอย่างยาวนาน และเชื่อว่าประเทศไทยยังมีผู้มีความรู้ความสามารถในการเป็น รมว.ด้านการต่าฃประเทศ ได้ดีกว่านายดอนอีกมากมาย จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องโอบอุ้มนายดอนไว้โดยละเลยข้อกฎหมายเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติขาดความน่าเชื่อถือ

“มีการพูดกันว่าที่ปรับนายดอน พ้น ครม.จากเรื่องถือหุ้นเกินกฎหมายกำหนดไม่ได้นั้น ด้วยเกรงว่าความผิดอาจจะมาถึงตัวท่านนายกฯเอง เนื่องจากทาง ป.ป.ช.ได้เคยส่งความเห็นที่ระบุว่านายดอนขาดคุณสมบัติมาให้ท่านนายกฯตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ หากนายดอนถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติจริง พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจถูกตีความว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ ใช่หรือไม่” นายอุเทน ระบุ

นายอุเทน กล่าวอีกว่า ด้วยบรรทัดฐานการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรสำคัญๆ ของประเทศเช่นนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตนตัดสินใจยุติบทบาทของพรรคคนไทย ซึ่งได้ยื่นแจ้งต่อ กกต.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ด้วยมองว่ากฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับพรรคการเมือง นอกจากไม่เอื้อพรรคการเมืองขนาดเล็กแล้ว ยังทำให้ผู้บริหารพรรคต้องเสี่ยงถูกตีความว่ากระทำความผิดโดยง่ายอีกด้วย ส่วนตัวก็ไม่อยากต้องติดคุกตอนแก่ และไม่ต้องการให้ผู้ร่วมอุดมการณ์กับพรรคคนไทยต้องเอาอนาคตไปทิ้ง หรือไปสุ่มเสี่ยงกับดุลพินิจการตีความกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.