วันอังคารเดียวกับที่ ครม.อนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ยังมีร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งผ่าน ครม.ออกมาพร้อมกัน

นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ซึ่ง ครม.อนุมัติหลักการ ตามที่ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เรื่องนี้ดีหน่อยที่เป็นผลผลิตของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นตัวของตัวเองพอสมควร

ทีนี้มาว่ากันถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ ซึ่งได้กำหนดหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 54 และมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

เรื่องแรก การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา มีหลักว่า

1. กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถานศึกษาของรัฐที่มีความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานศึกษาของเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด

...

2. กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถโดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่

3. กำหนดให้สถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีแต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลกิจการและการประกันคุณภาพของสถานศึกษา

4. กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพและดำเนินการด้านประกันคุณภาพของสถานศึกษาของตน รวมทั้งต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก

5. กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยให้จัดตั้งตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด

6. กำหนดให้สถานศึกษาในระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กับสถานศึกษาทุกแห่ง และหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นเอง โดยต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคม

ว่ากันคร่าวๆแค่นี้ก็พอมองเห็นแสงสว่างได้บ้าง แล้ววันพรุ่งนี้มาว่ากันถึงเรื่องการปฏิรูปครูอันเป็นหัวใจสำคัญของวงจรการศึกษา.

“ซี.12”