เลือกตั้งใหญ่ต้นปีหน้า ...มีเวลาวอร์มอัปอีกไม่ถึง 5 เดือน
แถม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังเพิ่มเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องทำนี่นั่นโน่นจนวุ่นวายขายปลาช่อนไปตามกัน
ฉะนั้น เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเกิดความสับสนมึนงง “นายอิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.ป้ายแดง จึงได้เชิญแกนนำพรรคการเมืองทุกพรรคไปรับฟังคำชี้แจงและตอบคำถามประเด็นต่างๆให้แจ่มแจ้งใสแจ๋วทุกแง่ทุกมุม
โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 59 พรรค จำนวนเกือบ 500 คน ไปเข้าประชุมกับ กกต.กันอย่างพร้อมเพรียง
แต่ปรากฏว่ายังมีหลายปัญหาที่ตัวแทนพรรคการเมืองสอบถามประธาน กกต. และเลขาธิการ กกต. แต่ไม่ได้รับคำตอบให้กระจ่างแจ้งชัดเจน
ทั้งๆที่คำถามต่างๆเป็นเรื่องที่ กกต.รับผิดชอบโดยตรง
“แม่ลูกจันทร์” มองว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่กำกับดูแลพรรค การเมือง มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง และกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ โปร่งใส เป็นธรรม
ถ้าหาก กกต.ยังตอบปัญหาของตัวเองไม่ได้...
แล้วจะให้พรรคการเมืองไปหาคำตอบจากใคร??
“แม่ลูกจันทร์” ขออนุญาตหยิบปัญหาใหญ่ที่ กกต.ตอบไม่เคลียร์ มาฉายเป็นหนังตัวอย่าง 2 ประเด็น
ประเด็นแรก...กรณีมีกลุ่มการเมือง 119 กลุ่ม ที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค การเมืองใหม่กับ กกต.
แต่ล่าสุด เพิ่งมีพรรคการเมืองใหม่ได้รับจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์เพียง 8 พรรคเท่านั้นเอง
แสดงว่ายังมีอีก 111 กลุ่มการเมืองที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองยังเข้าคิวรอไฟเขียวจาก กกต.
ปัญหาคือ พรรคการเมืองใหม่ที่รอคิวอีกร้อยกว่าพรรคจะส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทันหรือไม่? ในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 5 เดือน??
เพราะถ้าพรรคการเมืองจะส่งคนลงเลือกตั้ง ส.ส.ครบทั้ง 350 เขต ยังต้องวิ่งหาสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 7,700 คน
...
ข้อสำคัญ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.พรรคใดต้องเป็นสมาชิกพรรคการ เมืองนั้น “ไม่น้อยกว่า 90 วัน”!!
ถ้ายึดวันเลือกตั้ง “24 กุมภาพันธ์ปีหน้า” เป็นเกณฑ์
ผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขต จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก่อนวันที่ 24 พฤศจิกายนปีนี้ จึงจะครบ 90 วัน ทันกำหนดเส้นตาย
หมายความว่า ถ้าพรรคการเมืองใหม่ยังไม่ได้ไฟเขียวจาก กกต. ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายนปีนี้ จะหมดสิทธิ์ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างสิ้นเชิง
ถามว่า กกต.จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร??
คำถามนี้...ยังไม่มีคำตอบจาก กกต.
มาถึงประเด็นที่ 2 พ.ร.บ.พรรค การเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองทุก พรรคที่จะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขต ต้องจัดตั้งสาขาพรรค และจัดตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวตตามกติกา
แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตไปแล้ว พรรคการ เมืองยังต้องจัดตั้งสาขาพรรค และ จัดตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่??
และถ้าพรรคการเมือง ไม่ตั้งสาขาพรรค ไม่ตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจะสามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขตได้หรือไม่??
ปรากฏว่า กกต.ลิ้นไก่พันคอ ตอบคำถามนี้ไม่ได้เช่นกัน
เฮ้อ...หนักใจแทนท่านประธาน กกต.ป้ายแดงซะแล้วซีโยม.
“แม่ลูกจันทร์”