"สี่เหลี่ยมนั้นมีสี่ด้าน ไอ้คนหน้าด้าน ไอ้หน้าเหลี่ยม ลิ่วล้อ สิงคโปร์โตก ลิ่วล้อ สิงคโปร์โตก มันจะตกนรก กะลาหัวไม่เจียม"... เสียงเพลงดังกึกก้องบนถนนราชดำเนินตั้งแต่ลานพระรูปทรงม้า ลัดเลาะรั้วแดงกำแพงเหลืองยาวมาบรรจบแยกภูเขาทอง ฝูงชนใส่เสื้อยืดสีเหลือง โพกผ้าคาดศีรษะเขียนคำว่า "กู้ชาติ" ตัวแดงๆ พร้อมอุปกรณ์มือตบเคาะกันสนั่นหวั่นไหว ท่ามกลางการปราศรัยปลุกระดม ภายในม็อบชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ขยายฐานมวลชน "คนไม่เอาชินวัตร" กว้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2548 มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นแกนนำคนสำคัญ
ม็อบกู้ชาติยกระดับการชุมนุม กดดันขับไล่รัฐบาลไทยรักไทย
การชุมนุมเริ่มบานปลายใหญ่โตในปี พ.ศ.2549 ผู้คนจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การชุมนุมยืดเยื้อ ส่อทวีความรุนแรงจนเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน กับกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ ต่อมาจึงได้ประกาศให้มีการยุบสภา จัดเลือกตั้งขึ้นใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 ...ในห้วงเวลาดังกล่าวข่าวลือสะพัดหนาหูว่า "ทหารจะทำการปฏิวัติ" มีการสับเปลี่ยนกำลัง ขนย้ายรถถังจากค่ายนู้นค่ายนี้กันให้วุ่นวาย โยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย แต่เมื่อสอบถามไปยัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ตอบยืนยันกลับมาว่า "ถึงวงรอบก็สับเปลี่ยนกำลัง และการปฏิวัติก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ" ประกอบกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศยกระดับการชุมนุมครั้งใหญ่ ในวันที่ 20 กันยายน 2549 ด้านฝ่ายสนับสนุนนายทักษิณ ระดมประชาชนชุมนุมในวันเดียวกัน
...
ลางร้าย เช้าตรู่ 19 กันยายน สู่ปฏิบัติการรัฐประหาร
ในแวดวงสื่อมวลชน ข่าวลือยังคงแพร่สะพัด เพียงแต่ไม่มีใครรู้กำหนดการแน่ชัดว่าทหารจะลงมือเมื่อไหร่ 19 กันยายน 2549 มีคำสั่งจากทางรัฐบาล เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติภารกิจอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซ้ำยังมีข่าวลือว่า รัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ ช่วงค่ำวันเดียวกัน ประชาชนกระจายข่าวมีกำลังทหารหน่วยรบพิเศษ มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร
"กระแสข่าวมันสะพัดมานานมาก ประชาชนในกรุงเทพฯ ที่หาเช้ากินค่ำ แทบไม่รู้เรื่องราววงใน ยังคงทำมาหากินปกติ จวบจนเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่าๆ เราเริ่มเห็นรถถังทหารวิ่งบนถนนหน้าลานพระรูปทรงม้า และเกิดเหตุชนกับรถแท็กซี่ต่อหน้าต่อตา ทำให้โชเฟอร์แท็กซี่คันนั้นลงมาตะโกนโวยวายใส่ทหารด้วยความไม่รู้ว่ามันกำลังจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ส่วนตัวเราเองขับรถผ่านไปเห็นก็ตกใจ รีบโทรแจ้งเข้าสำนักข่าว แจ้งว่า "การรัฐประหารน่าจะเริ่มขึ้นแล้ว" ประจวบเหมาะกับเวลาที่เราออกเวรกำลังจะกลับบ้าน แต่ต้องหันหัวรถขับเข้าไปจอดทิ้งไว้ในกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพราะได้รับคำสั่งให้ไปเฝ้าจุดหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์" คำบอกเล่าจากสื่อมวลชนสำนักข่าวเนชั่น
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด"
เวลาประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก ล่วงเลยมาจน 22.00 น. ขบวนรถถังคุมเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึงถนนราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง หน้าตาขึงขัง น้ำเสียงที่ใช้พูดจากับประชาชนหนักแน่นชวนให้ขนลุก
ต่อมาโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" หลังจากนั้น พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำสองครั้ง
"เราได้ข่าวจากทางสถานีแล้วล่ะว่าทหารมาที่ตึก พร้อมขอความร่วมมือให้หยุดดำเนินการโทรทัศน์ ..ก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นการลงพื้นที่ทำข่าวปฏิวัติครั้งแรกในชีวิต ทั้งตื่นเต้นตกใจ แล้วก็กลัวทหาร (มาก) เราได้ยินน้ำเสียงของเค้าตอนเปล่งประกาศออกมาพูดคุยอธิบายประชาชนบนถนนที่ยังไม่ทราบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น (สมัยนั้นโซเชียลยังไม่แพร่กระจาย การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือเข้าถึงเร็วสุด) ในขณะที่ทหารตามจุดต่างๆ บนถนนราชดำเนิน ยาวมาจดสวนอำพร แยกเทเวศร์ เรียกได้ว่ารอบเกาะรัตนโกสินทร์ พี่ทหารเกือบทุกนาย ยืนขึงขังปิดปากเงียบ" คำบอกเล่าจากสื่อมวลชนสำนักข่าวเนชั่น
"ทักษิณ ชินวัตร" ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉิน จากสหรัฐอเมริกา
เวลา 22.15 น. วันที่ 19 กันยายน นายทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี แต่เมื่ออ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับ ก็มีกำลังทหารพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพโดยทันที จากนั้นนายทักษิณปรับกำหนดการที่จะขึ้นแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่แล้วก็ยกเลิกการขึ้นแถลง พร้อมขึ้นเครื่องบินเที่ยวพิเศษเดินทางออกจากนครนิวยอร์กไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
บรรยากาศหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ฝนโปรยลงเม็ดปรอยๆ ทหารเต็มพื้นที่
"จำได้ว่าวันนั้นทำงานลากยาวตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจน 8 โมงเช้าของอีกวัน นักข่าวทุกคนในเนชั่นถูกเรียกกลับมาระดมเต็มทีม เราได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวทีวี บริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เป็นที่พักของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รถถังแน่นล้อมรอบบ้านพัก นักข่าวหลายสำนักทยอยเดินทางมาปักหลักหน้าคอนโดมิเนียมเล็กๆ ย่านดังกล่าว เพื่อทำการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือรายงานความเคลื่อนไหวกลับเข้าสถานี ซึ่งขณะนั้นเราทำข่าวในส่วนของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกด้วย ก็ต้องลำดับเหตุการณ์ส่งไปเพื่อปิดกรอบตีพิมพ์"
บรรยากาศถนนหนทางเงียบสงัด การรัฐประหารราบรื่นด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเข้าปะทะโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลางดึกวันที่ 19 ยาวไปจนเช้าวันที่ 20 กันยายน ทหารยังคงสแตนด์บายอย่างต่อเนื่องเข้มแข็ง แต่สีหน้าท่าทางเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น นั่นก็หมายความว่า บรรดาผู้นำเหล่าทัพได้เข้ายึดอำนาจเป็นการสำเร็จอย่างไม่มีการเสียเลือดแต่อย่างใด
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ภายหลังเกิดการรัฐประหาร พลเอกสนธิ ให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ ยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ และใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในราวต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 และกำลังอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ที่เหมาะสมจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งจะมาจากคนกลางที่รักประชาธิปไตย และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับการดำเนินการกับอดีตนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตามที่ก่อนหน้านี้มีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีไว้ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเหมือนที่เกิดขึ้นในยุค รสช. และยังไม่มีแนวคิดยึดหุ้นชินคอร์ปคืนจากกลุ่มเทมาเส็ก และจะประกาศยกเลิกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทันทีเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ
เตรียมรัฐประหารวันที่ 20 กันยายน ชิงลงมือก่อน ชุมนุมใหญ่ ทักษิณ อยู่นิวยอร์ก
พลเอกสนธิ ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมทีวางแผนดำเนินการรัฐประหารในวันที่ 20 กันยายน เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่กำหนดแล้ว แต่การรัฐประหารต้องถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 19 กันยายน ขณะที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ระหว่างการเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ได้ทำการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากมีกำหนดจัดในเดือนเมษายน แต่ถูกสั่งให้เป็นโมฆะไป
ทหารกลายเป็นฮีโร่ ขี่ม้าขาวทำบ้านเมืองสงบสุข
"ดอกไม้เบ่งบานทั่วกรุงเทพมหานคร ตามถนนสองข้างทางมีรถทหารจอดนิ่ง ประชาชนนำดอกกุหลาบสีต่างๆ ไปปัก มอบเพื่อขอบคุณพร้อมให้กำลังใจทหาร รถถัง รถทหารจากทัพต่างๆ ถูกประดับประดาด้วยดอกไม้นานาชนิด บริเวณกองบัญชาการกองทัพบกหนาแน่นไปด้วยประชาชนขอถ่ายรูปคู่ทหาร ยกย่อง "พล.อ.สนธิ เป็น วีรบุรุษชาวไทย" และ "ขนานนามว่าเป็น กองทัพเพื่อประชาชน"
สอดคล้องกับที่ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชม ถือเป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน
ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ออกมาประท้วงตอบโต้ ไม่เอาเผด็จการ
20 กันยายน ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร-ทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดข้าวประท้วงผู้ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก จนถูกเจ้าหน้าที่ทหารล็อกตัว ด้านศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาประณามรัฐบาลเผด็จการทหาร "ฉีก" รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุด ปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ เรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านรัฐประหาร
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายต่อต้ายเผด็จการ ในนามนักศึกษาจากสถาบันชื่อดังต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อเรียกร้องต่อต้านการรัฐประหาร สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองเป็นระยะๆ ก่อนจะผลัดเปลี่ยนเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง
23 ธันวาคม 2550 "ทักษิณ ผงาด" ชนะการเลือกตั้ง-ถูกรัฐประหารอีกครั้งปี 2557
ภายหลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจได้เพียง 1 ปีกว่า ก็ปล่อยให้มีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2551–9 กันยายน พ.ศ.2551 เพียงระยะเวลาแค่ 7 เดือน เพราะทางประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายสมัครกระทำการต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่
กระทั่งต่อมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551–2 ธันวาคม พ.ศ.2551 เพียง 3 เดือน ก็มีอันให้ต้องจบลงอีกครั้ง เพราะในขณะที่ "สมชาย" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลเลย และกลายเป็นนายกฯ คนแรกที่ไม่เคยเข้าทำเนียบ เนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งม็อบปักหลักยึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จนต้องใช้สนามบินดอนเมืองเป็นที่ทำการแทน ยาวไปสู่ความชอบธรรมในการลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ต่อมามีกระแสข่าวสะพัดถึงการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการดึงสมาชิกพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมรัฐบาล กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551 หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นผลให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2551−2554
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เผชิญการประท้วงใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และทหาร รวมไปถึงกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง และพันธมิตรเจ็บตายหลายชีวิต ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่...
เพื่อไทย ชนะถล่มทลายอีกครั้ง น้องสาวทักษิณ นั่งเก้าอี้นายกรัฐตรีหญิง คนแรกของประเทศ
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 พรรคเพื่อไทย ได้มีการเสนอชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวแท้ๆ ของ "ทักษิณ ชินวัตร" เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป วันที่ 3 ก.ค. 54 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยชนะขาดลอย และได้เป็นผู้แทนราษฎร ครอง 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทย ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภา จากนั้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2554
"ยิงลักษณ์" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยได้ยังไม่ทันครบ 3 ปี ก็มีอันให้ต้องเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ม็อบขับไล่หลายทิศทางผุดขึ้นมาต่อต้านคัดค้านการทำงานของรัฐบาล ว่าด้วยนโยบายต่างๆ ที่เหมือนจะเป็นจุดบอดให้ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะคดีจำนำข้าว... ถึงกระนั้นก็ตามที กระแสม็อบต่อต้านตระกูลชินวัตร เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็จุดไม่ติด กระทั่งมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ล้างโทษความผิดให้ทุกฝั่งฝ่าย เป็นเหตุให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนจะเป็นกฎหมายเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาประเทศไทย ม็อบต้านกฎหมายนิรโทษกรรม จุดติด! นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแกนนำ กปปส. เชิญชวนหน่วยงานราชการ และคนทั่วประเทศ ร่วมกันล้มล้างระบอบทักษิณ ยาวไปสู่การเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจคืนประชาชน
โดนโค่นล้มอีกครั้งโดยกลุ่ม กกปส. เรียกร้องให้ทหาร คืนอำนาจประชาชน
ต่อมา "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 และให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เนื่องจากการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ระหว่างนี้เอง ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเรียกร้องกดดันให้ทางรัฐบาลพรรเพื่อไทยลาออก แต่ทางพรรคกลับประกาศยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง และการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ถูกกีดกันโดยกลุ่มผู้ชุมนุมสารพัดทิศทาง การเลือกตั้งวันที่ 16 มกราคม 2557 จึงต้องเป็นโมฆะ ระหว่างนั้นเองการเมืองไทย เหมือนเกิดสุญญากาศ การดำเนินการของรัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถควบคุมบริหารประเทศได้ ควบคู่ไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารที่รอดูท่าทีอยู่ห่างๆ ตัดสินใจก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
***ในห้วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติบอบช้ำ สะบักสะบอม เกิดการแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย รบราฆ่าฟันสู่การเสียเลือดเสียเนื้อหลายร้อยศพ ไม่รวมบาดเจ็บพิการ และติดคุกในข้อหาต่างๆ......ก็จริงอยู่ที่ว่า "การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน" แต่เท่าที่ผ่านมา ทำให้ตกผลึกความคิดได้ว่า "ประชาชน ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองต่างหาก" - - - - และถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง ...ได้เวลาผลัดเปลี่ยน คืนอำนาจสู่ประชาชน "หวังเป็นอย่างยิ่งว่า" ประวัติศาสตร์ชาติไทย จะไม่ซ้ำรอยกลับเข้าไปในวงจรเดิมเหมือนที่ผ่านๆ มา.