การประชุม กสทช. ในวันนี้ จะมีการพิจารณาถึงกรณีที่ ดีแทค ทำหนังสือขอให้ กสทช. เยียวยาคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ โดยให้เหตุผลยังมีลูกค้าที่ใช้บริการคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่ จะได้รับผลกระทบเนื่องจาก ซิมดับ ดังนั้น ขอให้รัฐช่วยเยียวยาปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว อธิบายง่ายๆก็คือขอให้รัฐรับผิดชอบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
ย้อนกลับไปที่ปัญหาเดียวกัน ทรูมูฟ และ เอไอเอส สิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับ กสทช. และยังไม่มีมาตรการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า กสทช. จึงแก้ปัญหาโดยการให้ใช้คลื่นไปจนกว่าจะมีการจัดประมูลแล้วเสร็จหลังจากหักค่าบริหารจัดการแล้วให้นำเงินรายได้ส่งเข้ารัฐ และเป็นภาระที่ ทรูและเอไอเอส ต้องทุ่มประมูลเพื่อรักษาคลื่นความถี่ให้ลูกค้าได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ครั้งนี้มีความแตกต่างก็คือ กสทช. ได้มีการประกาศให้จัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าเป็นปี ครั้งแรกการประมูลไม่มี ทรูและเอไอเอส เข้าร่วมประมูลด้วย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องแบงก์การันตีและราคาตั้งต้นที่สูงมาก ใบอนุญาตของ กสทช.จำนวนใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ก็มีจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการติด Filter ป้องกันกวนคลื่นรถไฟฟ้า เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ต่อมา กสทช. จัดประมูลใหม่อีกรอบ โดยเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล ให้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เหลือจำนวนแค่ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ราคาลดลงมา 2,000 ล้านบาท เพื่อให้เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Filter
ผลออกมาก็คือ ดีแทค เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์เพียง 1 ใบอนุญาต ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ไม่เข้าร่วมประมูลด้วย หลังจากนั้น ดีแทค ก็ทำหนังสือถึง กสทช. ขอเยียวยาคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่ยังไม่มีการประมูลและอยู่ในการให้บริการของ ดีแทค ทำให้ ดีแทค ได้ประโยชน์ถึงสองเด้ง
...
การคำนวณค่าใช้จ่ายต้องสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างไม่ได้ผันแปรไปตามจำนวนผู้ใช้บริการที่เหลืออยู่ในโครงข่าย ยกตัวอย่าง ทรูมูฟ มีความจำเป็นที่ต้องเปิดให้บริการและรักษาคุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานของ กสทช. แม้ผู้ใช้บริการจะลดลง แต่อุปกรณ์ทุกอย่างยังเปิดให้บริการตลอดเวลา นอกเหนือจากการซ่อมบำรุงปกติ
กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเยียวยาตามปกติ นับตั้งแต่การประมูลไปจนถึงการขอเยียวยาจากภาครัฐ และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้ให้บริการเสมอไป เอะอะจะให้รัฐร่วมรับผิดชอบหรือภาคบังคับจะต้องรับผิดชอบ โดยอ้างผู้ใช้บริการมาเป็นตัวประกัน นอกจากรัฐจะเสียค่าโง่ ประเทศไทยก็จะถูกเอาเปรียบ
เพราะนี่คือสมบัติของแผ่นดิน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th