ในขณะที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเร่งหาเสียงก่อนเลือกตั้ง หว่านเงินงบประมาณภาษีของประชาชน ลงไปใน โครงการประชานิยมเก่าๆ ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ประชาวิวัฒน์ ตั้งแต่ ราคาน้ำมัน ยัน ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ แต่ รัฐบาลเวียดนาม กลับประกาศ เพิ่มรายได้ชาวนาอีกร้อยละ 30 ในปีนี้

ผมเอามาเล่าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ผู้นำ ที่แตกต่างกันระหว่าง ผู้นำไทย กับ ผู้นำเวียดนาม ที่ใช้บริหารประเทศ

ในหนังสือ ไทยแลนด์ อีโคโมมิค แอนด์ บิซิเนส รีวิว ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย ฉบับล่าสุดได้สรุป
"10 ประเด็นที่ทำให้ข้าวไทยสู้ข้าวเวียดนามไม่ได้ในตลาดอาเซียน"  ไว้ อย่างน่าสนใจ  เนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึง  แนวคิดการบริหารประเทศ  ของ
ผู้นำเวียดนาม ที่แตกต่างไปจาก  นายกฯอภิสิทธิ์  อย่างเห็นได้ชัด

เมื่อไม่กี่ปีก่อน ไทยครองตลาดข้าวในอาเซียน ขายข้าวได้มากกว่าเวียดนาม แต่วันนี้เวียดนามขึ้นมาครองตลาดข้าวอาเซียนแทนเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 67.5 สาเหตุไทยแพ้เวียดนาม หอการค้าสรุปออกมา 10 ข้อ ผมขอยกตัวอย่างบางข้อก็แล้วกัน

1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเวียดนามสูงกว่าไทย อย่างในปีนี้ เวียดนามมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 853 กก.ต่อไร่ สูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่ชาวนาไทยผลิตข้าวได้ 447 กก.ต่อไร่ น้อยกว่ากันเกือบครึ่ง อยู่อันดับ 13 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของอาเซียน

2. ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนการผลิตข้าวต่ำกว่าชาวนาไทย แต่ได้ กำไรสูงกว่าชาวนาไทย โดยเปรียบเทียบแหล่งปลูกข้าว จังหวัดเกิ่นทอ ของเวียดนามกับ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของไทย ชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิต 5,800 บาทต่อไร่ แต่ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนการผลิต 4,978.9 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย 821.1 บาทต่อไร่ แต่มีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย 99 กก.

3. นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม ในการเพิ่มผลผลิตและรายได้ชาวนา 3 ลด คือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม  ลดการใช้ปุ๋ยเคมี  และ  ลดการใช้ยาปราบศัตรูพืชและ  3  เพิ่ม คือ  เพิ่มผลผลิต  เพิ่มคุณภาพ  และ  เพิ่มกำไร  จากนโยบายนี้ ทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5

4. มาตรการลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา  กระทรวงการคลังเวียดนาม กำลังยกร่างมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลายด้าน เช่น อุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องมืออุปกรณ์การผลิต ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและจัดตั้ง กองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกข้าว เป็นต้น

5. ชาวนาต้องกำไรอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเพิ่งประกาศนโยบายไปเมื่อวันที่  12  มีนาคม  2553  ให้ส่วนกลาง
และคณะกรรมการประชาชนจังหวัดต่างๆ กำหนดราคาข้าวเปลือกที่จะขายให้พ่อค้าคนกลาง ต้องให้เกษตรกรได้กำไรอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ โดยมอบให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ ไปกำหนดระเบียบและวิธีคำนวณต้นทุนการผลิต รัฐบาลเวียดนาม ตั้งเป้าว่า ในอนาคตจะให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มเป็น 2.5-3 เท่าของต้นทุน

ยกมา 5 ข้อก็เกินพอแล้ว รัฐบาลที่ทำงานเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง กับ รัฐบาลที่ทำงานเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืนของประชาชนและประเทศ แตกต่างกันอย่างไร

ผมเห็นว่า นโยบายรัฐบาลเวียดนาม เป็นการบริหารประเทศที่ถูกต้อง รัฐบาลที่ดี จะต้องหาทาง เพิ่มรายได้ประชาชนและเกษตรกรให้พอเพียง  เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่การตรึงราคาน้ำมัน พักหนี้ หรือ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกหนี้นอกระบบ แต่ ไม่คิดเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างพอเพียง สุดท้าย หนี้เน่ารายได้ไม่พอจ่าย หนี้นอกระบบ ก็หวนกลับมาเป็นปัญหาอีกไม่รู้จบ.

...


"ลม เปลี่ยนทิศ"