ออกมาประกาศล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันหนักแน่นย้ำแล้วย้ำอีก
ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ จะนำเรื่องการเสนอยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการยกเลิกดังกล่าว นั่นก็หมายความว่า
ในวันที่ 22 ธันวาคมเป็นต้นไป กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ซึ่งเป็น 4 จังหวัดสุดท้าย ที่ยังอยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะถูกยกเลิกการประกาศเป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน
และทั่วประเทศไทยก็จะไม่มีพื้นที่ใดที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ผ่อนคลายและมีความสุขกันอย่างเต็มที่ในห้วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ได้ใช้ชีวิตกันภายใต้กฎหมายปกติ ไม่ต้องใช้กฎหมาย พิเศษมาควบคุมดูแลสถานการณ์เหมือนกับช่วง 8–9 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ
สิ่งเหล่านี้ คือคำยืนยันและความตั้งใจของนายกฯอภิสิทธิ์
แม้ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รวมทั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ยังมีความกังวลเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่เมื่อนายกฯอภิสิทธิ์ยืนยันแข็งขันที่จะให้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถาน-การณ์ฉุกเฉิน
ทางฝ่ายความมั่นคง ก็ไม่ได้ขัดข้องขัดขวาง
พร้อมจัดทำแผนด้านความมั่นคงเสนอต่อนายกฯนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ควบคู่ไปกับการยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถาน-การณ์ฉุกเฉิน
โดยหลักการในการปฏิบัติ ก็คือ หลังจากยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ทางรัฐบาลจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ถือเป็นกฎหมายปกติ
ปรับถ่ายอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการติดตามสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย
หากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะประกาศพื้นที่ความมั่นคง ใช้กำลังทหารออกมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานตำรวจได้
เหนืออื่นใด หากเกิดสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงก็สามารถงัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาประกาศใช้รอบใหม่ได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้หากมองย้อนกลับไปดูสาเหตุที่รัฐบาลต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ปี
ต้นเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน–พฤษภาคม
ที่ยกพลบุกเมืองหลวง ขับไล่รัฐบาล กดดันให้นายกฯอภิสิทธิ์ยุบสภา โดยเข้ายึดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และแยกราชประสงค์ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงแรกที่มีการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดง รัฐบาลได้ ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มป่วนเมืองใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสถานที่ต่างๆ ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจยกระดับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน เพื่อประกาศพื้นที่ภาวะฉุกเฉิน และนำกำลังทหารออกมาระงับเหตุ รักษาความสงบเรียบร้อย
โดยมีการประกาศพื้นที่ภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพ–มหานครก่อน และมีการประกาศเพิ่มพื้นที่ในอีกหลายจังหวัด ทั้งในเขตปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของกลุ่มคนเสื้อแดง
จนกระทั่งเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มคลี่คลายลงไป จึงได้มีการทยอยยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในต่างจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน
เหลืออยู่เพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่กำลังจะมีการประกาศยกเลิกทั้งหมดในสัปดาห์นี้
ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกการประกาศ ใช้ภาวะฉุกเฉินทุกพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การที่นายกฯอภิสิทธิ์เดินหน้าสั่งยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้
ต้องยอมรับว่าลึกๆแล้ว ไม่ใช่แค่ต้องการให้ประชาชนได้ผ่อนคลาย ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างมีความสุขเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นเพราะถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้ยกเลิกภาวะ ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นภายในชาติ
ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับแนวทางตามแผนปรองดองที่นายกฯอภิสิทธิ์เคยประกาศไว้ว่า การจะเดินไปสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามที่ฝ่ายต่อต้านต้องการ ต้องอยู่ ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ
1. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น 2. สถานการณ์สงบ ทุกพรรคการเมืองสามารถไปหาเสียงในแต่ละพื้นที่ได้โดยไม่มีความรุนแรง 3. แก้ไขกติการัฐธรรมนูญก่อนไปเลือกตั้ง
มาถึงวันนี้ชัด เจนว่า เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการเมืองในประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวหดหายไป
แต่ล่าสุดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ในขณะที่ด้านธุรกิจ การค้า การส่งออก และการลงทุนก็คล่องตัวขึ้น
เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมเริ่มโงหัว
ขณะเดียวกัน จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.5 เขต 5 จังหวัด ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ขอนแก่น และสุรินทร์ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ
สถานการณ์ในการเลือกตั้งโดยรวมแล้วก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายหรือความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น
ผู้สมัครทุกพรรคไปหาเสียงได้ตามปกติ ตามวิถีระบอบประชาธิปไตย
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อย่างที่เห็นๆ รัฐบาลเสนอ แก้ไข 2 ประเด็น เรื่องการทำหนังสือสัญญาที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระรับหลักการไปแล้ว
รอเปิดสมัยประชุมรัฐสภาปลายเดือนมกราคมปีหน้า ค่อยไปลุ้นกันว่าจะคลอดออกมาสำเร็จหรือไม่
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงแม้ยังดำเนินอยู่ แต่ก็เป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีปัญหาความรุนแรง
สถานการณ์ทุกอย่างเข้าเงื่อนไข 3 ข้อ ที่นายกฯอภิสิทธิ์วางเอาไว้
ที่สำคัญ คณะกรรมการเพื่อการปรองดองสมานฉันท์ ทุกชุดที่นายกฯอภิสิทธิ์เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมากับมือ
ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นประธาน สมัชชาปฏิรูปประเทศที่มี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน
รวมทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
มีความเห็นตรงกันว่า การจะสร้างความปรองดอง ให้เกิดขึ้น รัฐบาลต้องยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอันดับแรก
ตรงจุดนี้ ถือเป็นปัจจัยเหตุสำคัญที่ทำให้นายกฯอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกภาวะฉุกเฉินไปแล้ว จะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงจนทำให้รัฐบาลต้อง หวนกลับมาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกหรือไม่
สถานการณ์และเวลาข้างหน้าจะให้คำตอบ
โดยเฉพาะแต่ละขั้วแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง จนนำมาสู่วิกฤติความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนในประเทศ
มีความจริงใจที่จะก้าวเข้าสู่ถนนแห่งความปรอง-ดองอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเดินเกมแฝงเพื่อต่อรองทางการเมือง
เป็นเรื่องที่สังคมต้องติดตามพฤติกรรมกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆภายใต้ปรากฏการณ์ที่นายกฯอภิสิทธิ์ เดินหน้ายกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ย่อมมีทั้งฝ่ายที่พอใจและไม่พอใจ
พวกที่สมประโยชน์จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พวกที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่มีการประกาศ ใช้ พ.ร.ก.ฉุก-เฉิน รวมไปถึงพวกที่ไม่อยากให้เกิดความปรองดอง เพราะตัวเองกลัวเสียผลประโยชน์ ก็คงไม่อยากให้ยกเลิก
ซึ่งก็รวมไปถึงคนในรัฐบาลบางส่วน ที่อยากเป็นรัฐบาลลากยาวไปจนครบเทอม ไม่อยากให้มีการยุบสภาเร็วเกินไป เพราะได้ผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ที่ถือเป็นต้นตอแห่งวิกฤติความขัดแย้ง จะมี ความจริงใจกับแนวทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน
หรือหวังแค่รอจังหวะให้สถานการณ์เปิดช่อง เพื่อใช้เครือข่ายเคลื่อนไหวซ้ำรอยเดิม เพื่อกดดันต่อรองในสิ่งที่ต้องการ
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังต้องรอพิสูจน์ เพื่อหาคำตอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอชี้ว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่จะปูทางไปสู่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่ความสงบและความปรองดองภายในประเทศอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ
เปรียบไปแล้วก็เหมือน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงของนายกฯอภิสิทธิ์ที่ออกมายอมรับว่า มีรายงานด้านการข่าวในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคนบางกลุ่มเตรียมก่อเหตุร้ายสร้างสถานการณ์รุนแรง
ทำให้ผู้ที่อยากเห็นความสงบและความปรองดอง ต้องผวากันอีกรอบ.
...
"ทีมการเมือง"