“จาตุรนต์” ชี้ ต้องใช้หลักประชาธิปไตยเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.โวย แม้มีเลือกตั้ง แต่เป็น ปชต.ครึ่งใบ ด้าน “ธนาธร” ตั้งธง พาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ สถาบันพระปกเกล้าจัดบรรยาย "การปฏิรูปพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย" แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่น 22 โดยสถาบันพระปกเกล้า มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วม
โดย นายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งถึงภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. มี 250 เสียงตุนแล้วในมือ ยังไม่ทราบว่า มีพรรคการเมืองสนับสนุนอีกกี่เสียง แม้จะมีการดึงและดูดบ้างแต่ยังไม่มาก ความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การดึงพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วไปเป็นพวก แต่ยังไม่มีพรรคใดประกาศตัวหนุนชัดเจน มีแต่ประกาศไม่สนับสนุน ส่วนการให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย มีโอกาสเลือกหัวหน้าพรรคนั้น กติกาใหม่ บุคคลภายนอกจะมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกยุบพรรคตัดสิทธิเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องระวังอยู่แล้ว ตนอยากเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงต้องสร้างตั้งแต่ในพรรค ต้องฟังเสียงประชาชน ขณะนี้ยังไม่มีการคุยว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค แต่เห็นตรงกันว่า จะต้องใช้หลักการประชาธิปไตยในการได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค
ขณะที่ นายจุรินทร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงภาพรวมการเมืองหลังการเลือกตั้งว่า ถามว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่แน่นอนคือ วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ก็จะเป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบ การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ มีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์เป็นเบี้ยหัวแตก มีโอกาสได้รับเลือกตั้งทุกพรรคกระจายกันไป เพราะออกแบบให้เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองภายใต้กติกาใหม่ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมตัวมาหลายยกแล้ว แต่ทำเป็นทางการไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขที่ คสช.กำหนด ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เพิ่งจะเปิดโอกาสให้พรรคที่มีอยู่เดิมนำสมาชิกเดิมมายืนยันตัวภายใน 30 วัน แต่พบว่าสมาชิกหายไปมากเพราะต้องเสียค่าสมาชิก และยังถูกกำหนดว่า ถ้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะไปเป็นวุฒิสมาชิกไม่ได้ ต้องพ้นสภาพสมาชิกไปแล้วระยะหนึ่งก่อน หรือแม้แต่จะไปอยู่ในองค์กรอิสระก็ต้องพ้นสมาชิก 10 ปี ส่วนจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้น ประชาธิปัตย์ไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้แต่หัวหน้าพรรคก็ต้องฟังเสียงสมาชิกพรรค
...
ด้าน นายธนาธร กล่าวตอนหนึ่ง ภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ถ้าให้สรุปก็คงบอกได้คำเดียวว่า เละ คือนึกไม่ออกว่าจะเอาสังคมไทยกลับสู่ความเป็นปกติได้อย่างไร ตนอายุ 40 ปี ผ่านการพยายามทำรัฐประหารทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ รวมแล้ว 5 ครั้ง เฉลี่ย 8 ปีต่อหนึ่งครั้ง สำหรับรอบนี้ นับจากรัฐประหารปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน เราอยู่ในวงจรนี้มาแล้ว 12 ปี อาจจะใช้เวลาอีก 1 ปีเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง แต่ก็ยังมี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีวาระ 5 ปี คร่อมการเลือกตั้ง 2 สมัยเป็นเวลา 8 ปี ดังนั้น เมื่อรวมแล้ว ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร เราจะอยู่กับวงจรรอบนี้ถึง 21 ปี เป็นอย่างน้อย ดังนั้น การเกิดขึ้นของอนาคตใหม่ โดยความตั้งใจนำสังคมไทยออกจากวังวนนี้ เราบอกว่า พอกันทีกับวงจรความขัดแย้งที่เกิดขั้นครั้งแล้วครั้งเล่า เราจึงพูดให้ชัดว่า ไม่ใช่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีเสียงในสภามากพอเพื่อขอแก้ไข ต้องเรียกร้องในสภาให้ ส.ว.เห็นด้วย ทำให้เกิดกระแสกดดันจากสังคม และต้องทำประชามติว่า ต้องตั้ง สสร.ที่มาจากประชาชน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสร็จแล้วก็ทำประชามติอีกครั้งเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น