ประเทศไทยเรากำลังจะมี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ เรียกสั้นๆว่า พ.ร.บ.มาร์ราเกซ เกิดจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกให้การรับรอง “สนธิ สัญญามาร์ราเกซ” (Marrakesh Treaty) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้วกับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์
สนธิสัญญานี้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเงื่อนไข และส่ง หนังสือเลขที่ นร 0507/13495 ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความตอนหนึ่งว่า “...คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เสนอสนธิสัญญามาร์ราเกซ...” ส่งผลให้มีการ ขับเคลื่อนจนปัจจุบันอยู่ในขั้นรอประกาศใช้ ถ้าประกาศออกมา ลิขสิทธิ์ทางวรรณกรรม จะมีองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งไทยและประเทศที่ยอมรับเงื่อนไขนำเอาไปทำซ้ำ ดัดแปลงเพื่อคนพิการทางสายตาได้ โดยไม่ต้องบอกเจ้าของลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.นี้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์เกิดข้อกังวลในผลกระทบ จึงได้หารือ ร่วมกัน อาทิ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่ง ชาติ ที่ประชุมมีข้อสงสัยหลายประการ อาทิ 1.การให้คำจำกัดความของคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ใน พ.ร.บ.ของไทยไม่ตรงกันตามเจตนารมณ์ของสนธิสัญญามาร์ราเกซ 2.เห็นควรกำหนดรูปแบบการทำซ้ำหรือดัดแปลงสื่อที่ได้รับยกเว้นให้ชัดเจน ว่ามีรูปแบบใดบ้าง 3. หาก พ.ร.บ.ออกมาแล้ว และมีการละเมิด ควรชดเชยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 4.ควรกำหนดปีในการยกเว้นให้ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย 5.ควรมีข้อปฏิบัติช่วยเหลือเจ้าของลิขสิทธิ์ หากได้รับการละเมิด
6.จากสนธิสัญญามาร์ราเกซมีระบุว่าองค์กรที่นำเอาลิขสิทธิ์ไปทำซ้ำ ดัดแปลงนั้น “ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ไม่ขัด ต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานอันมีสิทธิ์ ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบถึงสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร” ข้อนี้ควรระบุว่ารัฐจะดูแลได้ อย่างไร 7.กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ควรเป็นผู้ดูแล และเป็นตัวกลางใน การบริหารความเป็นกลางเป็นผู้ประสานความ สมดุลให้เกิดขึ้น มิใช่เป็นผู้เสนอร่าง
...
8.จากเอกสาร “คำชี้แจงตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ” มีข้อความระบุว่า “รัฐอาจต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุนช่วยเหลือให้คนพิการที่มีความบกพร่องทางการเห็น การ ได้ยิน สติปัญญาหรือการเรียนรู้ หรือคนพิการประเภทอื่นๆสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้” ดังนี้แล้วทำให้ตีความได้ไหมว่า รัฐกำลังผลักภาระการดูแลผู้พิการมาให้ผู้รังสรรค์งาน อันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งความเป็นจริงรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลคนพิการอยู่แล้ว และ 9.กระบวนการรับฟัง ความคิดเห็นที่ผ่านมายังไม่เปิดกว้าง ไม่เป็นสาธารณะพอ หากทำประชาพิจารณ์ใหม่จะดีหรือไม่
ข้อกังขาต่างๆเหล่านี้ แต่ละสมาคมฯ ได้ทำหนังสือยื่นต่อบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พิจารณาถึง “ความเป็นธรรม” ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดอย่างถูกกฎหมาย อันเนื่องมาจาก พ.ร.บ.มาร์ราเกซ.