หลัง สนช.มีมติเอกฉันท์ 217 เสียง ผ่าน 3 วาระรวด ให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ไม่ยึดติดอาวุโส-มหาเถรสมาคม หากอยากรู้ว่าทำไมต้องมีการแก้เพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 

ตรงนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า มหาเถรสมาคม ในอดีตมีจุดอ่อน คือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการ โดยตำแหน่งมีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าพระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะก็จะมีอายุมากและอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุมมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้นถ้ามุ่งหวังจะให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้นำในการปฏิรูปนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่ 

"เดิมทีไม่ได้คิดเรื่องที่มา คิดถึงเรื่องคุณสมบัติ แต่ระยะหลังเริ่มเกิดปัญหา กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป มีปัญหาต้องคดีและถูกกล่าวหา สั่นสะเทือนความรู้สึกความเลื่อมใสศรัทธา ที่ประชาชนมีต่อการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ พอสมควรทีเดียว ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และถอดถอนจากฐานันดรศักดิ์ จึงควรให้มีองค์ปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อถือจะได้มาจากพรรษายุกาล หรืออายุ จริยวัตร และควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต" นายวิษณุ กล่าว  

...

โดยร่าง พ.ร.บ.นี้มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จะคงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้น นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก

ทีมไทยรัฐออนไลน์ ขอย้อนที่มาของ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับนี้ว่า มีความจำเป็นอย่างไร ถึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยภายหลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ต่อมา มีการประชุมวาระนัดพิเศษของมหาเถรสมาคม ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ หรือ "สมเด็จช่วง" เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

แต่หลังจาก "พระพุทธะอิสระ" เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้นำหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 300,000 รายชื่อ คัดค้านการแต่งตั้ง "สมเด็จช่วง" เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 อ้างว่า "สมเด็จช่วง" มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในเวลาต่อมา สมเด็จช่วง ถูกร้องเรียนเรื่องรถเบนซ์ ซึ่งดีเอสไอสรุปว่ามีการใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียน

ในช่วงเวลาเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นหนังสือให้วินิจฉัยขั้นตอนเสนอชื่อพระสังฆราชตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ว่า อาจไม่ถูกต้อง จึงทำให้เครือค่ายคณะสงฆ์ออกมาโต้ตอบ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

จากนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติว่า การเสนอชื่อสมเด็จช่วงของมหาเถรสมาคมนั้นทำผิดขั้นตอน แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติว่าขั้นตอนแต่งตั้งสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราชถูกต้องตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์แล้ว

ต่อมา มีการโจมตีความสัมพันธ์ “สมเด็จช่วง” กับ "พระธัมมชโย" และวัดพระธรรมกาย ที่เข้าไปพัวพันกับคดีการฉ้อโกงเงิน "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในวงการพระพุทธศาสนา

เพื่อยุติปัญหาความวุ่นวายกรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ สนช.จึงแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์เป็น “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” จากที่เคยให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงทำให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช กลับมาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ 

และต่อมา มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์ เนื่องจากคณะสงฆ์ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะ ทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูป ในทางปฏิบัตินั้น สมเด็จพระราชาคณะมักจะชราภาพ และมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงทำให้ไม่อาจเข้าประชุมได้สม่ำเสมอ จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของ มส.ใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมมาเป็นกรรมการ

จึงมีการยกเลิกกรรมการ มส.โดยตำแหน่ง แล้วถวายคืนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง และทรงมีพระราชโองการให้ได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

กรรมการมหาเถรสมาคม ชุดปัจจุบันประกอบด้วย

1.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
2.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ
3.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม
4.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร
5.สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส
6.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม
7.สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม
8.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน
9.พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา
10.พระพรหมเมธาจารย์ วัดบุรณศิริมาตยาราม
11.พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดปากน้ำ
12.พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม ได้รับการเเต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมเมื่อ ปี 2555 *พ้นจากตำเเหน่ง ปมเงินทอนวัด
13.พระพรหมมุนี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
14.พระพรหมดิลก วัดสามพระยา ได้รับการเเต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2555 *พ้นจากตำเเหน่ง​ ปมเงินทอนวัด 
15.พระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส
16.พระพรหมวิสุทธาจารย์ วัดเครือวัลย์
17.พระธรรมธัชมุนี วัดปทุมวนาราม

18.พระธรรมบัณฑิต วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก

19.พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ

20.พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ ได้รับการเเต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2558 *พ้นจากตำเเหน่ง ปมเงินทอนวัด 

ทั้งหมดนี้ คือที่มาที่ไปว่า เหตุใดจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดย สนช.มีมติเอกฉันท์ 217 เสียง เห็นชอบแบบผ่าน 3 วาระรวด ประกาศใช้เป็นกฎหมาย...