หนังสือเล่มหนา มีคำภาษาไทยบอกว่า อิบูคิ ทาคาชิ โทขุดะ เขียน อธิคม สวัสดิญาณ แปล ชื่อหนังสือเป็นไทย แต่ยักเยื้องเขียนให้เหมือนหนังสือญี่ปุ่น

ผมอ่านเป็นนานกว่าจะได้ความ ชื่อหนังสือคือ...คนฉลาดแสร้งโง่

หนังสือดีๆที่มีความลึกซึ้งสไตล์นี้ ถ้าคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ไม่อุตส่าห์ค้นหามายื่นให้ ความไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ผมก็คงไม่ได้อ่าน

บทที่ 8 สิ่งที่คนโง่ได้มาด้วยความยากลำบาก...

คนฉลาดมี 2 ประเภท 1. คนฉลาดที่รู้จักใช้ตัวเองอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง เช่น แพทย์ ศิลปิน นักวิชาการ นักคิด นักแสดง วิศวกร สถาปนิก นักกีฬา ฯลฯ

2. คนฉลาดที่รู้จักใช้คนอื่นอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง เช่น ผู้ประกอบการ ผู้นำ นักบริหาร นักเจรจาต่อรอง นักขาย ฯลฯ

กล่าวกันว่า นักกีฬามือดี ไม่แน่ว่าจะเป็นครูฝึกได้ หมายความว่า ความสามารถของนักกีฬากับครูฝึกต่างกัน ความสามารถแบบหลัง คือความสามารถในการครองใจคน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก

ในตลาดมีหนังสือประเภท เคล็ดลับการเป็นผู้นำ หรือพลังแห่งการชี้นำ อยู่ไม่น้อย เนื้อหาหลักกล่าวถึงความสามารถในการครองใจคน แต่อ่านแล้วรู้สึกว่า

เกาไม่ถูกที่คัน

เพราะหนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นบนจุดยืน คนโง่ที่อวดฉลาด กำหนดเอาเองว่าตนคือคนเลอเลิศ เขียนด้วยความรู้สึกของผู้นำที่ชี้นำจากบนลงล่าง

ทำไม? ไม่เขียนบนจุดยืนของคนฉลาดแสร้งโง่บ้าง?

การอ่านหนังสือประเภทนี้ ไม่อาจช่วยเพิ่มพูนพลังแห่ง การนำ มีแต่จะบั่นทอนความสามารถในการนำให้น้อยลง

เมื่อศึกษาชีวิตของนักบริหารชื่อดัง พบว่า รูปแบบการบังคับ บัญชาจากล่างสู่บน คือท่วงทีที่สามารถเอาชนะใจคนได้ผลเด่นชัด

ถ้าต้องการครองใจคน แต่ดูถูกว่าคนอื่นโง่ ก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย

ในยุคทำสิ่งใดขายสิ่งนั้น โรงงาน (เครื่องจักร) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด บุคลากรมักถูกมองข้าม

แต่เมื่อเผชิญกับยุคขายไม่ออก นักขายก็กลายเป็นบุคลากรที่ทุกฝ่ายต้องการ หันมาให้ความสำคัญกับการใช้คนอื่นอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง และการบ่มเพาะบุคลากรมากขึ้น

เมื่อเผชิญหน้ากับยุคดังกล่าว คนหัวดีก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะไม่เข้าใจความรู้สึกของคนหัวไม่ดี

คนที่สามารถอยู่อย่างสุขสบาย ไม่หวั่นไหวในยุคนี้ ล้วนเป็นคนมีนิสัยแบบกลางๆ คนเหล่านี้ กล้าพูดอย่างไม่ละอาย "ผมไม่รู้ อะไรเลย" "ผมไม่ใช่คนหัวดี" "ผมเคยสอบตก"

คำพูดเหล่านี้ ให้ความรู้สึกที่ดีแค่คนธรรมดา เพราะในโลกนี้ มีแต่คนธรรมดามากกว่า 90%

การได้ความรู้สึกที่ดีจากคนธรรมดา จึงเป็นสิ่งมีค่าที่คนโง่ ได้มาด้วยความยากลำบาก

ผมอ่านคัมภีร์ญี่ปุ่นบทนี้จบ ก็เลิกแปลกใจ ทำไมในบาง เรื่องราวในบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ผู้นำที่ชาญฉลาดสมควรจะทำ กลับไม่ทำ แต่ไปรีบทำในเรื่องที่ไม่ควรจะทำ

เรื่องที่ให้ความรู้สึกดีๆ บางเรื่องก็แยกแยะไม่ได้เหมือนกันว่าควรหรือไม่ควร

ยิ่งเรื่องที่ทำแล้วโกยคะแนนทางการเมืองได้ ผู้นำที่ฉลาดแค่ไหน ก็แกล้งทำเป็นโง่ได้ทุกคน.

...

กิเลน ประลองเชิง