นายกฯ เปิดประชุมผู้นำเศรษฐกิจลุ่มอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ชูแผนแม่บทฉบับแรก บรรลุ 3 เสา ผนึกกำลังเป็นอนุภาคเศรษฐกิจแห่งใหม่ ประเดิมเงินก้อนแรก จัดตั้งกองทุน...
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา โดยมีผู้นำประเทศสมาชิก อูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าร่วม
ขณะที่นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมภายใต้หัวข้อ “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” ว่า การรวมตัวและความเชื่อมโยงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจะต้องช่วยกันสร้างประชาคม ACMECS ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และเป็นแกนนำสำคัญเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก 4 ประเทศสมาชิก ได้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019-2023) ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
สำหรับเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค เน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐาน 2.การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ เน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน ลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ 3.การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเห็นพ้องจัดทำโครงการระยะเริ่มแรก 2 ปี ส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก และตอนใต้ พร้อมเสนอจัดตั้งกองทุน ACMECS Fund ภายใต้แผนแม่บทฯทั้ง 3 เสา โดยไทยพร้อมสนับสนุนจัดตั้งกองทุนด้วยทุนเริ่มต้นก่อตั้งจำนวนหนึ่ง และขอเชิญชวนประเทศสมาชิกเป็นหุ้น รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ
...
พร้อมกล่าวในตอนท้ายว่า การรวมตัวของสมาชิก ACMECS ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือของ ACMECS ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนุภูมิภาคของพวกเรา โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง มั่นใจว่าจะเป็นอนุภูมิภาคเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นกลจักรสำคัญของโลกได้อย่างแท้จริง.