บ่งบอกถึงระดับความเครียดของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

เพราะโดยอารมณ์ปกติน่าจะต้องมีช็อตแสดงความยินดีกับ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาวมืออันดับ 5 ของโลก ที่เพิ่งคว้าแชมป์ “ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น” กระหึ่มโลก

แต่ล่าสุด “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่ “หน้านิ่วคิ้วขมวด” ไร้รอยยิ้มมาตลอด 2–3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังอยู่ในอารมณ์ฉุนเฉียว ตอบคำถามนักข่าวแบบห้วนๆ

เสียงแข็ง 6 เดือนที่เหลือไม่ปรับคณะรัฐมนตรีแน่นอน

“ตัดตอน” กระแสที่กำลังไหลเข้าเหลี่ยมพวกฉวยสถานการณ์กดดันให้เขี่ยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พ้นเก้าอี้เพราะพิษหุ้น ขณะเดียวกันก็ไหลลามเป็นเชิงกดดันมัดคอ “นายกฯลุงตู่”

ต้องถือโอกาสปรับกระทรวงเศรษฐกิจที่ทำงานไม่เข้าเป้า

เร้าไปกับโพลรายวัน ถามย้ำแบบรายสัปดาห์ ชาวบ้านไม่พอใจปัญหาปากท้อง เข้าทางนักการเมือง ขบวนการเตะตัดขา “นายกฯลุงตู่” ได้ทีกระตุก “อุปาทานหมู่” ให้คนรุมด่ารัฐบาล

สถานการณ์บีบคั้น “ลุงตู่” เครียด ตกเป็นรองเกมชิงกระแสเล่นกับอารมณ์สังคม

หลงอยู่ในกระแส “อุปาทานหมู่” ปมเศรษฐกิจปากท้อง

เรื่องของเรื่อง มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ การใช้โพลถามคำถามเชิงความรู้สึกชาวบ้าน ย่อมได้คำตอบเชิงลบที่ใช้ความรู้สึก ไม่ได้มาจากความเป็นเหตุเป็นผลสักเท่าไหร่

ตรงกันข้าม สิ่งที่รัฐบาลแถลงไขออกมานั่นต่างหากที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลชัวร์ๆ

อิงกับตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

...

อีกทั้งล่าสุด นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในวงประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากหอการค้าต่างจังหวัดหลายๆแห่ง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไม่คึกคัก กำลังหดตัว ยังไม่ฟื้นเหมือนเศรษฐกิจภาพรวม

เป็นผลจากการปราบปรามธุรกิจสีเทาอย่างเข้มงวด ทั้งธุรกิจพนัน บ่อน หวยใต้ดิน การจัดระเบียบพ่อค้าแม่ค้าตามชายหาดและแหล่งท่องเที่ยว และการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นหายไปเฉลี่ยปีละ 2–3 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลในวงหอการค้าไทยและหอการค้าภาคระบุ เศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือเศรษฐกิจฐานรากที่ยังเดือดร้อน ภายใต้บริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายยุคดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

นี่คือคำตอบที่ว่าเศรษฐกิจภาพรวมดี แต่ชาวบ้านบ่นปัญหาปากท้อง

และนั่นก็ต้องให้ความเป็นธรรม ประเมินตามเงื่อนไขสถานการณ์ 3 ปีที่ผ่านมา จากตัวจีดีพีที่โตกว่า 2 ล้านล้านบาท ตลาดหุ้นโต 4 ล้านล้านบาท ตรงนี้คนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์เลยหรือ

หรือตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรโตขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวหอมมะลิที่สูงกว่าตันละ 17,000 บาท เป็นไปไม่ได้ที่ชาวนาจะไม่ได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวโตกว่า 35 ล้านคนต่อปี รายได้ท่องเที่ยวโตกว่าร้อยละ 20 ยังไงประโยชน์ก็ต้องตกไปถึงเศรษฐกิจระดับล่าง

ขณะที่เมกะโปรเจกต์ โครงการลงทุนต่างๆของรัฐบาลจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ยังไงก็ต้องเอื้อต่อการส่งออกและเกิดการจ้างงาน

รวมทั้งโครงการสวัสดิการประชารัฐ บัตรคนจนที่ถึงมือคนจนโดยตรง ยังไงก็ต้องเกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก บรรเทาปัญหาปากท้อง

มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่า ผลงานรัฐบาล คสช. “จับต้อง” อะไรไม่ได้

ไม่นับโครงการพื้นฐานระยะยาวที่รัฐบาล “ลุงตู่” วางฐานเสาเข็มไว้ เส้นทางรถไฟฟ้าสารพัดสายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ความพยายามยกระดับวิสาหกิจชุมชนที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเกษตรกรรมแบบเมืองไทย การเร่งรัดประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อให้เท่าทันเศรษฐกิจโลกในอนาคต

เทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มีอะไรด้อยกว่า

แถม “ลุงตู่” เหนือกว่าในเรื่องการใช้อำนาจพิเศษเชิงบวกทะลุทะลวงปัญหาหมักหมม ไม่ว่าจะปมการค้ามนุษย์ที่โดนแบน การสางยกระดับคุณภาพการบินพาณิชย์ที่ติดธงแดงจนสถานการณ์คลี่คลาย

สรุป ปัญหามันอยู่ที่จุดอ่อนการอธิบายเรื่องยากๆให้ฟังเข้าใจง่าย

ตรงกันข้าม อีกฝ่ายแค่พูดง่ายๆ ลูกเขี้ยวยี่ห้อ “ทักษิณ” เบิ้ลบลัฟปัญหาปากท้อง โยงเทียบกับสมัยอดีตรัฐบาล กระตุ้นกองเชียร์รากหญ้าที่คิดถึงแต่โครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่ทำให้คนทั่วเมืองรู้สึกถึงความกินดีอยู่ดี

ทั้งๆที่บทสรุปสุดท้ายต้องแลกด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน

ทำรัฐเสียหายนับหมื่นนับแสนล้าน.

ทีมข่าวการเมือง