เจอคิวแทรกบั่นทอนเครดิตท็อปบูต
ในซีนที่ กกต.ลงมติเสียงข้างมากชี้มูล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 กรณีภริยาถือครองหุ้นเกิน 5% โดยไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายในเวลาที่กำหนด
ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเป็นด่านสุดท้าย จะหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่
ตามท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่ยังไม่กล้าตัดสินใจชัดเจน จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดแรงกระเพื่อม ทั้งคนใน คนนอกรัฐบาลต่างรอโอกาส จับจ้องแย่งเก้าอี้ เผลอๆอาจวุ่นวายไปถึงขั้นปรับใหญ่ ไม่ใช่แค่ปรับเล็กเฉพาะตำแหน่งที่มีปัญหา
เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลให้เกิดปัญหาภายใน
ขยายแผล ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ “บิ๊กตู่” มีเรื่องต้องพะวงใจมากขึ้นกว่าเดิม
นอกเหนือจากแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองชักแถวออกมาทวงสัญญาคืนเวทีเลือกตั้งตามโรดแม็ป
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
กฎหมายลูกสำคัญฉบับสุดท้ายถูกปลดล็อก รอประกาศบังคับใช้ นั่นเท่ากับ “บิ๊กตู่” หมดตัวช่วย ยื้อเลือกตั้ง รอเวลาเข้าคูหาหย่อนบัตร เร้าเสียงปี่กลองการเมืองหลังจากนี้ให้ดังขึ้นเรื่อยๆ
สอดรับจังหวะออกตัวแรงๆของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ที่ประกาศชูธงโละรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ หากได้รับโอกาสเข้ามาทำงานในสภาฯ
ตั้งแท่นทำลายล้างมรดก คสช. จ่อเช็กบิลฝ่ายอำนาจพิเศษตั้งแต่ออกตัว
แม้จะรู้เป็นแค่ลีลาหาเสียง อาศัยเหลี่ยมการตลาดวาดลวดลายทางวาทกรรม ปั่นเรตติ้งให้ตัวเอง แต่ก็สร้างอาการผวาให้ คสช.ได้ไม่น้อย
...
หากดูจากแอ็กชันของเหล่าคีย์แมนอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตั้งแง่ข้องใจการประกาศเจตนารมณ์รื้อรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ โดยเรียกร้องให้ กกต.ไปดำเนินการตรวจสอบ
สะท้อนให้เห็นอาการแอบหวั่นไหวอยู่ลึกๆ
อย่างที่เห็นๆกันอยู่ พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้สู้แค่เพียงลำพัง เพราะพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมผสมโรงเป็นแนวร่วม รอคอยการปลดโซ่ตรวน ถ้าโอกาสเข้าทาง อะไรที่ยากในทางปฏิบัติก็อาจเป็นไปได้
รูปการณ์ที่เคยเป็นต่อ ชักจะไม่นิ่ง หลังจากเพลี่ยงพล้ำในสงครามโซเชียล เจอลูกเขี้ยวฝ่ายตรงข้ามโหมกระแสปล่อยข่าวลบเล่นงานรัฐบาลสะบักสะบอม ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน การลักไก่ขึ้นภาษีแวต
ต้องสั่งทีมงานไล่แก้ข่าวเชิงลบกันอุตลุด
นี่คือปรากฏการณ์แพ้ทางโลกโซเชียลที่ “ลุงตู่” กำลังเผชิญอยู่ โดนปั่นกระแสเสี้ยมให้คนเบื่อรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมา 4 ปี
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยการเมืองที่ชักไม่นิ่ง สถานการณ์ไม่เป็นใจให้ขั้วอำนาจพิเศษเหมือนเดิม
ซีกการเมืองยังแตกเป็นหลายขั้ว พรรคใหญ่จูนกันไม่ลงรอยหลังเลือกตั้ง ต้องเตรียมหาทางใช้สูตรพิเศษ โมเดลรัฐบาลแห่งชาติเป็นทางเลือกสำรองไว้เวลาฉุกเฉิน
ขณะที่ฟากประชาชนยังแตกแยก แบ่งเป็นฝักฝ่าย ตัวอย่างที่เห็นชัดๆจากปฏิบัติการบุกจับ “อดีตพุทธะอิสระ” ที่สะท้อนแรงกระเพื่อมในสังคมชัดเจน ทั้งฝ่ายกองเชียร์ กองแช่งเปิดศึกด่าทอกันเละเทะ
ความปรองดองยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ถูกสะกดชั่วคราวด้วยมาตรา 44 ศึกสีเสื้อยังอยู่คู่สังคมไทย
สภาวการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง โยงกับการรอดูท่าทีผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560
นั่นก็เป็นความจำเป็นที่อาจจะต้องเลื่อนโปรแกรมการจับเข่าคุยพรรคการเมืองในเดือน มิ.ย.ออกไป ตามการส่งสัญญาณจากนายวิษณุ เครืองาม
อย่างน้อยก็ต้องรอให้กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายประกาศบังคับใช้แล้ว เบรกการปล่อยผีนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวในช่วงรัฐบาลกำลังเสียหลัก
ดึงจังหวะให้ทุกอย่างกลับมาเข้ารูปเข้ารอยก่อน ค่อยมาว่ากันใหม่
ทำไปทำมามีแนวโน้มไปกระทบปฏิทินเลือกตั้งอาจขยับจากกำหนดการเดิมในเดือน ก.พ.2562 เล็กน้อย
ยืดเวลาให้ “ลุงตู่” ตั้งหลักปรับทัพให้ลงตัว.
ทีมข่าวการเมือง