วิทย์-นวัตกรรมควบรวม3สำนัก
ตั้งกระทรวงใหม่ผ่านฉลุย “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ปลื้มที่ประชุม ทปอ.เห็นด้วย ได้ชื่อ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” โครงสร้างกระทรวงมี 4 กลุ่มงานเพื่อให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ กับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) กรณีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ สกว. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า มาร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ได้ ภาพรวมของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ชัดเจน โดยมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลใจที่เกิดขึ้น
นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ในภาพรวมจากการพูดคุย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีเพียงเรื่องช่วงเวลาเท่านั้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังกังวล แต่ได้สร้างความเชื่อมั่นและทำความเข้าใจในเบื้องต้นแล้วว่า กระทรวงใหม่สามารถดำเนินการจัดตั้งได้ตามกำหนดเวลาแน่นอน คือเสร็จแน่ภายในรัฐบาลนี้ เนื่องจากมีความคืบหน้าในหลายส่วน ทั้ง พ.ร.บ.สำคัญที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาอีกไม่นานก็จะแล้วเสร็จ ส่วนโครงสร้างการทำงานของกระทรวง ทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันเป็นอย่างดี ในเรื่องการสร้าง ส่งเสริมกำลังคน ด้วยงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ ก้าวสู่ยุค 4.0
รมว.วท.กล่าวต่อ สำหรับกระทรวงใหม่จะชื่อ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” โครงสร้างของกระทรวง เบื้องต้นประกอบไปด้วย 4 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไทย กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ที่หลายฝ่ายกังวลว่า กระทรวงใหม่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์จนลืมภาคสังคม ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เน้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ สังคม เชิงนวัตกรรม ให้มหาวิทยาลัยสร้างและพัฒนาคนขึ้นมาเพื่อตอบสนองไทยแลนด์ 4.0 โครงสร้างกระทรวงใหม่ จะมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ประกอบด้วยกองทุนย่อย 3 กองทุน คือ 1.กองทุนพัฒนาการอุดม-ศึกษาและการวิจัย 2.กองทุนวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและพื้นที่ 3.กองทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้งานวิจัยของประเทศไทยได้รับการพัฒนาขึ้นและมีความเป็นเอกภาพ
...
ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมด้วย กล่าวว่า การจัดตั้งกระทรวงใหม่นั้น เห็นด้วยเป็นอย่างมากในหลายประเด็น เนื่องจากกระทรวงใหม่ถือเป็นการสร้างกำลังคน ผลักดันงานวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะส่งผลให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้นเป็นการใช้งานวิจัย ส่งเสริมกำลังคน สร้างผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งการควบรวมยังเป็นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วน ที่ยังคงลักษณะงานเดิมไว้ เพื่อบรรลุเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน