“สามารถ” โพสต์เฟซฯ ปม “เมล์เอ็นจีวี” วุ่น บ.ถอนประกันภัย ห่วง “อาคม” หากศาลชี้ต้องรับผิดชอบ กรณีศาลสั่งยังไม่ให้ดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โยงหากร้อง ป.ป.ช.วุ่นแน่

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 14 พ.ค.2561 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “ระส่ำหนัก! ถอนประกันภัยเมล์เอ็นจีวี ศาลย้ำ “อาคม” ต้องรับผิดชอบ” ว่า การประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน มีปัญหาตลอดมาจนถึงการประมูลครั้งที่ 8 ปรากฏว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงว่า ได้รับรถเมล์เอ็นจีวีลอตแรกแล้ว จำนวน 100 คัน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ก็เพราะต้องการหาเหตุผลมาสนับสนุนการรับรถ จำนวน 100 คัน ให้ได้ว่า ขสมก.รับรถก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. (บอร์ด ขสมก.) ที่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ บริษัท ช.ทวี ร่วมกับสแกนอินเตอร์ในการประชุม เมื่อวันที่ 18 และ วันที่ 20 ธันวาคม 2560 เพราะ ศาลไต่สวนพบว่า บอร์ดไม่มีมติดังกล่าวจริง การทำสัญญาระหว่าง ขสมก.กับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลได้สั่งห้ามมิให้ ขสมก.นำมติดังกล่าวไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันกับ ขสมก. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการรับรถ ขสมก.ได้ทำประกันภัยกับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง โดยสัญญาเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 จนถึง 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ขสมก.จะต้องชำระเบี้ยประกัน ภายใน 30 วัน แต่เมื่อถึงกำหนด ขสมก.ไม่ได้ชำระเบี้ยประกัน บริษัทดังกล่าว จึงมีหนังสือทวงถาม และขีดเส้นตายให้ ขสมก.ชำระเบี้ยประกันภายใน 15 วัน หรือวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา หาก ขสมก.ยังคงไม่ชำระเบี้ยประกันภายในเวลาที่กำหนดให้ บริษัทจึงยกเลิกกรมธรรม์ จึงน่าเป็นห่วงว่า ใครจะรับผิดชอบเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ยิ่งในกรณีเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต และ/หรือมีผู้บาดเจ็บสาหัส หรือในกรณีรถเมล์ชนกับรถหรูมีราคาแพง

...

นายสามารถ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องประกันภัยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการ ขสมก.ของ รมว.คมนาคม อีก คือ หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า จะเดินหน้าตามสัญญา พร้อมทยอยรับมอบรถจนครบ 489 คัน ตามสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งสวนทางกับคำสั่งศาล เพราะศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ ขสมก.ดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันกับ ขสมก.เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงรับรถเพิ่มเติมไม่ได้ แต่คำให้สัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคม นี้ เป็นเหตุให้บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ที่เข้าร่วมประมูลครั้งที่ 8 ด้วยได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ให้ไต่สวนและกำหนดบทลงโทษ รมว.คมนาคม ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ถือว่าเป็นการละเมิดคำสั่งศาล และเห็นว่า รมว.คมนาคม มีอำนาจเรียกประธานบอร์ด ขสมก. ผู้อำนวยการ ขสมก. พนักงานหรือลูกจ้าง ขสมก. มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือสั่งให้กระทำหรือยับยั้งมิให้กระทำการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 แต่ รมว.คมนาคม ไม่ดำเนินการ

ซึ่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า รมว.คมนาคมจะใช้ หรือไม่ใช้อำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของ ขสมก. ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ รมว.คมนาคม หมายความว่า หากผู้ฟ้องคดี หรือใครคนใดคนหนึ่งนำเรื่องนี้ไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รมว.คมนาคม จะหนีความรับผิดชอบไปไม่พ้น และทราบว่า มีผู้เตรียมร้องต่อ ป.ป.ช. โดยตั้งใจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เช่นเดียวกับ คดีรับจำนำข้าว