"วัส" ส่งหนังสือแจงผู้ตรวจการแผ่นดิน ถล่ม "กรธ.-สนช." ร่าง พ.ร.ป.กสม. ละเมิดสิทธิ "อาจารย์มหาวิทยาลัย" ขัด รธน.
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม. 3 คน ประกอบด้วย ตน นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ได้ใช้สิทธิในฐานะส่วนตัว ยื่นเรื่องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.กสม.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือขอให้อธิบายกรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ของการคัดเลือกอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อมาเป็นกรรมการสรรหา กสม. ตาม พ.ร.ป.กสม. มาตรา 11 (6) ว่า ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 วรรคสามของรัฐธรรมนูญปี 2561 อย่างไร ซึ่งพวกตนได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว
นายวัส กล่าวว่า พ.ร.ป.กสม. กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กสม. มีจำนวน 11 คน ซึ่งมาตรา 11 (1) – (5) ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนเลือกกันเองเหลือ 3 คน ผู้แทนสภาทนายความ 1 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือประเภทละ 1 คน ขณะที่กรรมการสรรหาในสัดส่วนที่มาจากอาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาตามมาตรา 11 (6) อีก 1 คนนั้น กำหนดให้กรรมการสรรหา 10 คน ตามมาตรา 11 (1) – (5) เป็นผู้คัดเลือกแทน
“พ.ร.ป.กสม. กำหนดคุณสมบัติกรรมการสรรหาที่เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาว่าจะต้องสอนหรือทำงานวิจัยหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และวิจารณญาณไม่น้อยกว่าผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข และสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ในขณะที่ 3 กลุ่มนี้มีสิทธิเลือกกันเองให้เป็นกรรมการสรรหาได้ แต่คณาจารย์เหล่านี้กลับไม่มีสิทธิเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหา ต้องให้กรรมการสรรหา 10 คน ตามมาตรา 11 (1) – (5) เป็นผู้คัดเลือกแทน สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน จึงปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิของบุคคลในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาใช้บังคับ” นายวัสระบุ
...
นายวัส กล่าวว่า มาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.ป.กสม. จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคลหรือสังคม ซึ่งไม่สามารถจะกระทำได้ มีผลทำให้ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเวลาพิจารณาคำร้องของตนและพวก 60 วันนับจากวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการสรรหา กสม. หยุดชะงักลงแต่ประการใด หรือถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปี 2560 คุ้มครองไว้ ก็ยังสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง.