หนีไม่พ้นโดนเอ็นจีโอ สายอนุรักษ์จิกด่าตามฟอร์ม กับการขยับล่าสุดของนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แสดงความกังวลต่อความมั่นคงระบบผลิตไฟฟ้าภาคใต้ในปี 2563 ที่มีความเสี่ยงจะไม่พอ หากอุณหภูมิไม่เย็นลง
แน่นอน เป็นเหตุผลที่โยงกับความจำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมองผู้ว่าการ กฟผ.อ้างข้อมูลเข้าเหลี่ยมแฝงดันโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้ เพราะปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
แนวโน้มไม่ใช่แค่ขู่ แต่เป็นสถานการณ์ “ของจริง” ที่รออยู่ข้างหน้า ถ้าไม่มีการขยับรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า อีก 2 ปีเตรียมเทียนกับขี้ไต้ไว้จุดคบเพลิงได้เลย
ขณะที่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นสถานการณ์ที่สวนทางกัน ตามที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ส่งสัญญาณชัด ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศทั้งปัจจุบันและไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และพลังงานทดแทน พบว่าใน 5 ปีข้างหน้า การสำรองไฟฟ้าจะมีปริมาณสูงกว่าร้อยละ 20-30
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ ทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการสำรองไฟฟ้าที่สูงก็เป็นต้นทุนสูง เงินอุดหนุนพลังงานทดแทนปัจจุบันมีราคาสูง 20-25 สตางค์/หน่วย หรือกว่าหมื่นล้านบาท/ปี นับเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงมากสำหรับผู้บริโภค
ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมหนักในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน
โดยเฉพาะสมาคมการค้าพลังงานขยะเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลทบทวนนโยบายชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน เนื่องจากเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อปริมาณขยะประเทศ
ที่จะเพิ่มทุกปี เฉลี่ย 30 ล้านตันต่อปี และภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเลือกรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นการช่วยบริหารจัดการขยะที่มีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอื่นๆ
...
ยังไม่นับในมุมของเกษตรกร ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. มีนโยบายให้ลดพื้นที่ปลูกข้าว ไปปลูกพืชพลังงานทดแทน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ดังนั้น ถ้านโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลแกว่งไปแกว่งมา ย่อมส่งผลต่อราคาพืชพลังงานทดแทน และแผนการลดพื้นที่ปลูกข้าว
เหมือนหักหลัง เดือดร้อนเกษตรกรที่ทำตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
แต่อย่างไรก็ดี เข้าใจและไว้วางใจได้กับกระบวนการคิดของนายศิริและรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ว่ามาจากการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่มีผลประโยชน์แฝงจากพลังงานเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
แต่ทางที่ดีควรใช้โอกาสอำนาจเบ็ดเสร็จ คิดทีเดียวทั้งระบบ จะเสียหายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ต้องยอมรับสภาพการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่นโยบายด้านพลังงานที่มั่นคงถาวร เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
เกษตรกรตลอดจนประชาชนผู้บริโภคจะได้เจ็บทีเดียว.
กำปั้นหยก
mudlek@thairath.co.th