ในการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ
ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลจะนำกฎหมายสำคัญจำเป็นเร่งด่วนต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติ การไทยเข้มแข็ง เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจ นั่นก็คือ
พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กำหนดกรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่ค้างเติ่งมาตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป
เนื่องจากโดนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ดึงเกมสกัด ตรวจสอบเข้ม
ด้วยการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผลปรากฏ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและลงมติชี้ขาดด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ การออกพระราชกำหนดกู้เงินดังกล่าว ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด รัฐบาลจึงได้ขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ เพื่อขออนุมัติพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาท จากสภาฯ
รวมทั้งจะเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอีก 400,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณา พ่วงเข้าไปในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีคิวเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ในวันที่ 17-18 มิถุนายน
โดยรัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 วงเงิน 1,700,000 ล้านบาท เพื่อให้สภาฯพิจารณา
ฉะนั้น ในช่วงสัปดาห์ต่อไปนี้ จึงถือว่าเป็นห้วงสำคัญทางการเมือง เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของรัฐบาล
เพราะจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเงินกู้ 800,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
และยังมีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 จ่อคิวเข้าสภาฯแบบต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติกู้เงิน 800,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
การเปิดสภาฯสมัยวิสามัญพิจารณากฎหมายดังกล่าว จึงเป็นที่จับตาของบรรดานักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพราะเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีมาตรการและความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในสภาวะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกเริ่มส่อแววกระเตื้องขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ทำให้บรรดานักธุรกิจและนักลงทุน เกิดความลังเลไม่มั่นใจในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย
ก็เพราะไม่มีความมั่นใจทางการเมือง ไม่มั่นใจเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลปรากฏออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ไล่ตั้งแต่ปัญหาเรื่องการระบายข้าวและข้าวโพดในโครงการรับจำนำของกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล กับพรรคภูมิใจไทย ในซีกกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย
ถึงขั้นที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์คอยแต่จับผิดโครงการของพรรคร่วมรัฐบาล
อัดแรง ไม่มีการวางแผนในการบริหาร ทำให้เกิดปัญหาในการดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร ไม่มีผลงาน
ตามด้วยปัญหาความขัดแย้งในโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ของกระทรวงคมนาคม กลายเป็นปัญหาคาใจกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย ในซีกกลุ่มเพื่อนเนวิน กับพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากโครงการนี้โดน ครม.ตีกลับถึง 2 รอบ ล่าสุดยื้อไว้ 1 เดือน โยนให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาว่า ระหว่างการเช่ากับการซื้อ อย่างไหนจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่ากัน
ในขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาวิจารณ์โจมตีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีอย่างต่อเนื่องว่า ไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์แอบแฝง
ทำให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาจวกกลับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในรัฐบาล พร้อมติติงแกนนำพรรคที่ไม่ออกมาห้ามปราม
จากปมปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ ถูกมองว่าอาจนำไปสู่ ความแตกหักได้ และมีความเสี่ยงสูงต่อการอยู่หรือไปของรัฐบาล
โดยเฉพาะในห้วงที่รัฐบาลจะนำพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 800,000 ล้านบาท ขออนุมัติต่อที่ประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ
หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่โหวตอนุมัติพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน เป็นผลให้กฎหมายสำคัญว่าด้วยการเงินของรัฐบาลต้องตกไป
รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการยุบสภา หรือลาออก
สภาวะเช่นนี้จึงถูกมองว่า เป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานของรัฐบาล
เพราะหากปมขัดแย้งระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล เดินไปสู่จุดแตกหัก
รัฐบาลก็จะพังทันที
นี่คือสิ่งที่นักธุรกิจ และนักลงทุน เฝ้าจับตามองด้วยความไม่มั่นใจ
อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองมาอย่างใกล้ชิดโดยรอบด้าน เราขอชี้ว่า
ปมความขัดแย้งในรัฐบาล โดยเฉพาะในกรณีของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
ยังไม่พร้อมแตกหัก
ถึงขั้นที่จะนำไปสู่การคว่ำกฎหมายกู้เงิน 800,000 ล้านบาท เพื่อล้มรัฐบาล
เพราะนั่นหมายถึงจะต้องเดินไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งกันใหม่
ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ต่างก็รู้ดีว่า
ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปลงสนามเลือกตั้ง
สำหรับความไม่พร้อมในประเด็นแรกเลย ก็อย่างที่เห็นๆกันอยู่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังประกาศสู้ยิบตา
โดยล่าสุดได้โฟนอินเข้ามาให้กำลังใจลูกพรรคเพื่อไทย แสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยจะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาล
"ทักษิณ" ประกาศสู้ในสนามเลือกตั้ง ผ่านเครือข่ายพรรคเพื่อไทย
แน่นอน ด้วยศักยภาพของ "ทักษิณ" สามารถส่งกำลังบำรุงมาช่วยได้เต็มที่ แถมกระแสประชานิยมที่คนรากหญ้าชื่นชอบก็ยังไม่จาง
ฉะนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย จะตีฝ่าเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสาน
จำเป็นจะต้องมีความพร้อมเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องทุน เรื่องคน และกลไกรัฐ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่พร้อมแค่ครึ่งๆกลางๆ
เมื่อไม่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ก็ยังไม่พร้อมแตกหัก จำเป็นต้องประคองตัวเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ
ส่วนความไม่พร้อมอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ สภาวะการเมืองที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งของคนในประเทศ
มีปัญหาแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งสี ขาดความสามัคคีปรองดอง มีการปลุกระดมให้เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
หากมีเหตุให้ต้องมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะเกิดปัญหา มีการใช้ความรุนแรงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการเมือง ที่ไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยแสดงวิตกกังวล
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่พร้อมด้านการเมือง ในประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเดินหน้าศึกษาประเด็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องการยุบพรรค การแก้ไขเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน
แน่นอน พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ไม่อยากให้กระบวน การที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านี้ต้องสะดุดหยุดลง
จากปัญหาความไม่พร้อมต่างๆเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องประคองตัว เพื่อรักษาสถานภาพการเป็นรัฐบาลร่วมกันต่อไป
ด้วยการผ่านกฎหมายกู้เงิน 800,000 ล้านบาท
ไม่กล้าแตกหัก ล่มเรือที่ตัวเองนั่งอยู่
พูดง่ายๆว่า สถานการณ์ความจำเป็นที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องประนีประนอมกันต่อไป ยังมีอยู่สูงมาก
แม้จะมีปัญหาความขัดแย้ง มีเรื่องระหองระแหง ด่ากันไป ด่ากันมา
เหมือนพร้อมจะแตกหักกันอยู่ทุกวัน
แต่พอสงบสติอารมณ์กันได้ บวก ลบ คูณ หาร มองถึงผลประโยชน์ของตัวเองในอนาคต และผลได้ผลเสียทางการเมืองที่จะตามมา
ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ยังไม่พร้อมแตกหัก
ต้องกัดฟันทนกันต่อไป.
...
"ทีมการเมือง"