'บิ๊กตู่' เบิร์ธเดย์ 'ฮุนเซน' มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จ ก่อนร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง ระบุ ไทยหนุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำประเทศสมาชิก สนองพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อความใกล้ชิดเกิดสันติภาพ มั่นคงยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 61 ที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เข้าพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3
โดย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปผลการหารือว่า นายกฯ และและนายกฯ กัมพูชา ยินดีต่อความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาที่มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้น และเนื่องในโอกาส วันที่ 4 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดของนายกฯ กัมพูชา นายกฯ จึงได้กล่าวอวยพรในนามของรัฐบาลและตัวแทนประชาชนไทย ขอให้นายกฯ กัมพูชา และครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสมปรารถนาทุกประการ พร้อมขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนตามลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกัน ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเปิดจุดผ่านแดนระหว่างทั้งสองประเทศ และเส้นทางรถไฟ
...
จากนั้นในเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ โดยนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยยินดีสนับสนุนการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละประเทศ รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง พร้อมเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกจะทำให้ลุ่มแม่น้ำโขงของเกิดสันติภาพ ความมั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และสามารถใช้กลไกความร่วมมือที่กำหนดไว้มาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังคาดหวังว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะมีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิก ในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบต่อภัยพิบัติด้านน้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำว่า ความท้าทายดังกล่าวเป็นประเด็นข้ามพรมแดน อีกทั้งเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีระเบียบปฏิบัติด้านการใช้น้ำ และเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลประเทศสมาชิก
ในช่วงท้าย นายกฯ เสนอให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมาธิการฯ เติบโต โดดเด่นและยืดหยุ่นเท่าทันต่อสถานการณ์การพัฒนาต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยพัฒนาให้เป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค จึงควรมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่า การพัฒนาบทบาทความเข้มแข็งของคณะกรรมาธิการฯ มีส่วนสำคัญให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน