กรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าทรงธรรม พ่อค้ายุโรปบันทึกว่า ส่งสำเภาไปค้าต่างประเทศถึงปีละ 100 ลำ ในขณะที่มี เรือสำเภาจีนประเทศไทย เข้ามาค้าขายด้วยปีละกว่า 1,000 ลำ สินค้าเหล่านี้จะกระจายจากกรุงศรีอยุธยาไปทั่วประเทศ
ในหนังสือเรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน โรม บุนนาค เขียนว่าในขณะเดียวกันสินค้าตั้งแต่ ภาคเหนือสุด จะถูกรวบรวมมาสู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อลงสำเภาไปขายต่างประเทศ
เศรษฐกิจอยุธยาจึงเจริญเติบโต ในสายตาต่างประเทศกรุงศรีอยุธยามั่งคั่งโอ่อ่าสง่างามที่สุดในภาคตะวันออกไกล
เส้นทางการค้าสำเภา คือแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัญหาก็คือเริ่มจากปากอ่าวเข้าไปถึงกรุงศรีอยุธยา ลำน้ำคดเคี้ยวเป็นอย่างมาก ต้องใช้เวลาเดินเรือถึง 15 วัน
แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากคลองบางกอกใหญ่ ไปถึงปากคลองบางกอกน้อย ต้องใช้เวลาเดินเรือถึงหนึ่งวันเต็ม
พงศาวดารบันทึกว่า ปีมะโรง จุลศักราช 884 (พ.ศ.2065) สมเด็จพระชัยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก...จากปากคลองบางกอกน้อยเวลานี้ ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ คลองลัดบางกอก ถูกน้ำกัดเซาะค่อยๆใหญ่ ขึ้นๆ ขณะที่คลองบางกอกใหญ่ไปตลาดพลูวัดอินทาราม วัดคูหาสวรรค์ คลองตลิ่งชัน คลองบางระมาด เลี้ยวขวาทางตะวันออกไปวัดขี้เหล็ก ไปตามคลองบางกอกน้อย...ก็ค่อยๆเล็กลง เปลี่ยนฐานะจากแม่น้ำเป็นลำคลอง
ต่อมาในปีจอ จุลศักราช 900 (พ.ศ.2081) แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้ขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำอีกแห่ง ที่ปากคลองบางกรวยตรงวัดชลอ มาทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ย่นระยะทางไม่ต้องอ้อมตามแม่น้ำไปทางสามเสน
ปีชวด จุลศักราช 998 (พ.ศ.2179) แผ่นดิน พระเจ้าปราสาททอง โปรดให้ขุดคลองลัดที่ใต้วัดท้ายเมือง ไปออกหน้าวัดเขมาภิรตาราม ตรงปากคลองบางกรวย
ต่อมาไม่นาน คลองลัดก็กลายเป็นแม่น้ำ
ปีขาล จุลศักราช 1085 (พ.ศ.2265) แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ โปรดให้ขุดคลองลัดเกร็ดน้อย จากวัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร) ลงมาบรรจบตรงโค้งด่านตรวจเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดเป็นเกาะเกร็ดขึ้นถึงปัจจุบัน
บรรดาคลองลัดที่ขุดขึ้นในรัชกาลต่างๆ นอกจากทำให้การเดินทางสะดวก ไม่ต้องอ้อมแล้ว น้ำก็ยังเดินสะดวก เซาะตลิ่งให้กว้างออกไปทุกที จนกลายเป็นแม่น้ำ
ยกเว้นช่วงคลองลัดจากวัดชลอมาถึงวัดขี้เหล็ก ที่ขุดในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ยังคงเป็นสภาพคลองอยู่เหมือนเดิม
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากการที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขุดคลองลัดจากหน้าเมืองนนท์มาวัดเขมาฯ สายน้ำเดินตรงมาทางคลองลัดที่ขุดใหม่ได้ สะดวกกว่า จึงไม่ได้ผ่านเซาะให้คลองลัดที่บางกรวย กว้างอย่างที่น่าจะเป็น
สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม อย่างคลองบางกอกน้อย คลองแม่น้ำอ้อมคลอง บางหลวงเชียงราก แม้แต่แม่น้ำอ้อมเกร็ดน้อย ที่บางบัวทอง ทุกวันนี้ก็ตื้นเขินขึ้นทุกที
มีข้อน่าสังเกตว่า แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ขุด เช่นแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากคลองบางกอกน้อย มาปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) ยังแคบกว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ตอนเหนือและใต้ลงไป
ในสมัยรัชกาลที่ 5 กระแสน้ำเซาะแผ่นดินช่วงปากคลองบางหลวงยังไม่หมด เหลือเป็นเกาะแก่งเล็กๆ หน้าวัดอรุณราชวราราม เคยมีผู้ ถ่ายภาพเอาไว้
ปัจจุบันนี้เกาะเล็กๆแห่งนี้ไม่มีแล้ว ถูกน้ำเซาะหายไปหมดแล้ว
การขุดคลองลัดบางกอก...บริเวณหน้าวัดอรุณ มาสถานีรถไฟบางกอกน้อย มีผลให้แผ่นดินเดิม กลายสภาพเป็นเกาะ เพราะถูกแม่น้ำล้อมรอบ ชุมชนมากมายที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำสายเดิม ถูกเปลี่ยนสภาพมาอยู่บนเกาะ
ผู้รู้บางท่าน เคยสันนิษฐานว่า ชื่อ บางกอก มาจากภาษามลายู แปลว่า คดเคี้ยว แต่โรม บุนนาค ตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ว่า ชื่อบางกอก น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า บางเกาะ มากกว่า
แม่น้ำสายนี้ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งเขียนชื่อไว้ในแผนที่ว่า "แม่น้ำ" เข้าใจว่าเรียกตามคนไทย ฝรั่งฟังแล้วเข้าใจว่าแม่น้ำเป็นชื่อแม่น้ำ
ส่วนคำว่า เจ้าพระยา โรม บุนนาค บอกว่า คำนี้เพิ่งปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์
แผนที่ของนายแพทย์แองเจิลเบิร์ท แคมเฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่เข้ามากับคณะทูตฮอลันดา เรียกตำบลหนึ่ง ที่ปากแม่น้ำทางด้านตะวันออกว่า "บางเจ้าพระยา" เข้าใจกันว่า เป็นตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรปราการ
ชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถูกเรียกกันมาตั้งแต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้
โรม บุนนาค เริ่มต้นข้อเขียนเรื่อง แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเอาไว้ว่า...แต่ก่อนนี้ตรงท่าเตียนหน้าวัดโพธิ์ กับพระปรางค์วัดอรุณยังไม่มีแม่น้ำขวางกั้น วัดโพธิ์กับวัดอรุณยังอยู่ ในผืนแผ่นดินเดียวกัน ยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์ วัดแจ้งก็คงเดินไปมาหากันได้ โดยไม่ต้อง (เหาะ) ข้ามน้ำ
และเรื่องที่ขัดใจกันจนเป็นเหตุให้ ยักษ์สองวัดต้องตีกัน จนแผ่นดินโล่งราบเลี่ยนเตียน กลายเป็นชื่อท่าเตียน...ก็คงไม่มี.
...
บาราย