ผบ.ทบ.เผยไม่ได้อนุมัติให้ศาลใช้พื้นที่ก่อสร้างบ้านพัก เผยเป็นที่ราชพัสดุ แนะชาวเชียงใหม่พูดคุยกันเพื่อหาจุดเหมาะสม ขณะที่ ทบ.เตรียมส่ง จนท.ลงใต้ตรวจสอบเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวถึงการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2540 ทางสำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทำเรื่องขอกองทัพบกใช้พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นกองทัพบกไม่ได้อนุมัติและมีการทำเรื่องมาอีกครั้งในปี 2546 กองทัพบกจึงอนุมัติไปเมื่อเดือน ก.พ.2547 ให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน 147 ไร่
จากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้ทำโครงการการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงาน โดยเริ่มโครงการเมื่อปี 2556 โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เดือน ก.พ.-ก.ย. ปี 2556 วงเงิน 665 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างบ้านพัก 45 หลัง อาคารชุด 13 หลัง ระยะที่ 3 เดือน ม.ค.2557 เป็นการก่อสร้างสำนักงานที่ทำงาน อาคาร ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวนเงิน 290 ล้าน และระยะที่ 4 ปี 2559 วงเงิน 61 ล้าน เป็นอาคารสำนักงานของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่ปี 56 จนมาถึงปัจจุบัน เมื่อมีการร้องเรียนตนก็ได้มีการสั่งการให้กองทัพภาคที่ 3 ลงไปดำเนินการตรวจสอบเมื่อวันที่ 20-24 มี.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันสรุปได้ว่า การก่อสร้างบ้านพักอยู่ในกรอบ 147 ไร่ ที่ได้ขออนุมัติไว้ ไม่มีบริเวณไหนที่รุกล้ำไปในเขตอุทยานฯ ยืนยันว่ากรอบการสร้างยุติลงแค่นี้ ยังมีพื้นที่ในส่วนของ 147 ไร่ที่ขอไว้ แต่ยังไม่ได้มีการสร้าง
...
"สำหรับขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ฉะนั้นงานใกล้เสร็จแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ จะปิดงาน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ก็อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้ ส่วนความไม่สบายใจของพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัดเชียงใหม่และศาล เพื่อให้ได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยฝ่ายทหารจะช่วยอำนวยความสะดวกให้" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันเนื่องจากเป็นโครงการที่ทำไปแล้วและใกล้เสร็จสิ้นโครงการ และใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ก็ตามต้องเป็นเรื่องของในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมในพื้นที่นั้น ซึ่งวันนี้ตนได้แจ้งให้แม่ทัพภาคที่ 3 ทราบแล้วว่าสามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากไม่มีบริเวณไหนที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไปปรับในเรื่องของความเหมาะสมให้กลมกลืนกับพื้นที่ภูมิประเทศ ต้องไปพูดคุยกันในรายละเอียดในพื้นที่อีกที
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวกองทัพบกคืนราชพัสดุไปส่วนการใช้งานก็ไปว่ากัน ไม่ใช่กองทัพบกไปอนุมัติให้สร้าง กองทัพบกคืนพื้นที่ให้ราชพัสดุที่ดูแล เมื่อส่วนราชการมีความต้องการ ใช้แล้วขอใช้กองทัพบกก็คืนไป เพียงแต่กองทัพบกไม่ได้เป็นผู้อนุมัติให้จัดสร้าง ซึ่งกรณีดังกล่าวจะลงตัวอย่างไรให้ยอมรับกันได้และไม่เสียหายมากนัก เพราะใช้งบประมาณไปพอสมควร ซึ่งก็พอมีเวลาพูดคุยกันอยากให้หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้พูดคุยกันและหาจุดที่เหมาะสม เพื่อจะเดินต่อไปได้อย่างไรที่จะเกิดต่อผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด"
นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดซื้อเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ราคาแพงและไม่สามารถตอบโจทย์ในการใช้งานพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้หากมีประเด็นการร้องเรียนในกิจกรรมใดๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ ซึ่งตนยังไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นกรอบงานที่เกี่ยวข้องกับ ศอ.บต. แต่กรณีนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยัง กอ.รมน. ให้ส่งทีมงานลงไปตรวจสอบในเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนทุจริตในทุกเรื่อง ซึ่ง กอ.รมน.ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจเร กอ.รมน.ร่วม ปอท.จัดทีมลงไปเพื่อทำรายละเอียดในเรื่องนี้ 2-3 วันนี้ ซึ่งอาจจะรวมเรื่องเครื่องกรองน้ำด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมากเรื่องของการทุจริตหากมีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ต้องลงไปตรวจสอบทันที
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จัดซื้อเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ของ ศอ.บต. ถือเป็นข้อมูลที่ร้องเรียน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ ซึ่งเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ที่ประชุม คสช.ก็เน้นย้ำเรื่องนี้ชัดเจนซึ่งต่อไปก็มีมาตรการในการตรวจสอบ การทุจริตของทุกส่วนงานที่มีการร้องเรียนอย่างชัดเจน ถ้ามีความผิดก็ลงโทษ ซึ่งมีคำสั่งหลายเรื่องออกมาแล้ว
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายรัฐบาลและ คสช.คงไม่เกี่ยว เพราะบางเรื่องมีมานานแล้วหากเราเร่งรัดในการตรวจสอบหรือเปิดช่องทางให้ร้องทุกข์ก็สามารถทำได้ง่าย เมื่อเราก็มีข้อมูลมากขึ้นลงไปตรวจสอบ หากมีข้อเท็จจริงก็ไปดำเนินการ ซึ่งก็ต้องช่วยกันในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริต ตรงไหนที่มีข้อมูล ข้อร้องเรียนมาที่ภาครัฐ ต้องดำเนินการทุกเรื่องโดยโปร่งใส หากร้องเรียนมาก็ต้องตรวจสอบทันที
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า การที่มีความเข้มงวดเรื่องการทุจริตซึ่งตรงกับความต้องการของประชาชน ที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาเรื่องทุจริต คอร์รัปชันเป็นประเด็นแรกในการดำเนินการ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันคือเร่งรัดให้เป็นรูปธรรม ทางนายกรัฐมนตรีเองพยายามจัดรูปแบบของทีมงานลงไปตรวจสอบในทุกๆ เรื่องอย่างเคร่งครัด ในเวลานี้ก็สั่งการชัดเจน
อย่างไรก็ตามไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ หากมีการร้องเรียนในประเด็นไหน ทีมงานต้องตรวจสอบ ก็จะลงไปดูหากมีความชัดเจน ในส่วนการใช้งานภาพรวม กอ.รมน.ก็ไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณของทุกภาคส่วนอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการร้องเรียนในประเด็นไหนขึ้นมา เราก็จะลงไปดูในประเด็นนั้นเป็นกรณีไป.