อาจารย์พลูหลวงเขียนไว้ในหนังสือ 7 ความเชื่อของไทย (คติสยาม) ว่า พระสยามเทวาธิราช คือเทวดาผู้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และประเทศไทย

องค์ต้นแบบ...หล่อด้วยทองคำทั้งองค์ ขนาดสูง 8 นิ้วฟุต เป็นเทวรูปประทับยืน ทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ในปางประทานพร

ปีที่สร้าง...ไม่ปรากฏบันทึกไว้แน่ชัด หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล สันนิษฐานว่า อาจหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 2402-2403

เหตุที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างพระสยามเทวาธิราช...ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ทรงเล่าถึงอาการประชวร เนื่องจากทรงตกรถม้า ตอนหนึ่งว่า

"ตัวข้าพลัดตกหกตะแคงลงมากับลูก 4 คน ตัวข้ากลัวรถจะทับตายเอามือขวาดันไว้...

ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง 4 แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป คนวิ่งมาช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้ ข้าก็ลุกขึ้นวิ่งมาได้..."

ความในพระราชหัตถเลขาแสดงว่า พระองค์ทรงมีความเชื่อเรื่องเทวดาอารักษ์

พลูหลวงบอกว่า ประจวบกับในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พม่า มลายู ญวน ฯลฯ ต่างก็ถูกพวกยุโรปเข้ามาครอบครองดินแดน

มีแต่ไทยเพียงชาติเดียว ที่รอดปลอดภัย

ความในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่มีถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ตอนหนึ่งว่า

"แต่ก็ยังขอบใจพระสยามเทวาธิราช เทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย แลพระเสื้อเมือง ทรงเมือง พระกาฬไชยศรี บรรดาที่มีชื่ออยู่ในคำประกาศน้ำพิพัฒน์สัตยานั้น..."

เพราะทรงเชื่ออย่างนี้ จึงมีพระราชประสงค์จะสักการบูชาเทวดาพระองค์นั้น

ทรงดำริถึงประเพณีนิยมในทางพุทธศาสนา ซึ่งนิยมกันว่า ถ้าจะสักการบูชาระลึกถึงคุณในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มักจะสักการบูชาพระพุทธรูป แล้วรำลึกถึงพระพุทธคุณ

ดังนั้น จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ปั้นรูปหล่อสมมติเทพองค์นั้นขึ้น แล้วทรงถวายพระนามว่า

พระสยามเทวาธิราช

โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระพุทธมหามณเฑียร

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ โปรดเกล้าฯให้รื้อหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม จึงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน

ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่พระวิมานทองสามมุข

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงสักการบูชาและถวายเครื่องสังเวยเป็นประจำทุกวัน มีพระราชพิธีบวงสรวงในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

อาจารย์พลูหลวงเขียนทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันพระสยามเทวาธิราชก็ยังได้รับความนับถือสักการบูชาจากประชาชนทั่วไป โดยเชื่อกันว่าเป็นเทวดาผู้คุ้มครองประเทศไทย

เมื่อมีเหตุการณ์ใดไม่ราบรื่น หรือจะเป็นอันตรายแก่บ้านเมือง ประชาชนก็จะอ้อนวอนขอให้พระสยามเทวาธิราชปกปักรักษา

เมื่อเกิดเหตุเภทภัยตรงหน้า อดทนช่วยตัวเองให้...ประการแรก คนอื่นที่มีกำลังเหลือก็ช่วยเหลือเกื้อกูล ประการต่อมา เมืองไทยเราผ่านเภทภัย...มาได้ทุกครั้งเหมือนครั้งนี้.

...

กิเลน ประลองเชิง