ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ร่าง พ.ร.บ. เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2535 ชักเข้าชักออกมาแล้วถึง 11 รัฐบาล
นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานถึง 26 ปี!!
แต่จนบัดนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯก็ยังไม่คลอดออกมาเป็นตัว
รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาตั้งแต่ปี 2558
แต่กว่าที่ประชุม สนช.ลากตั้งจะถูลู่ ถูกังลงมติรับหลักการวาระแรกก็ยืดเยื้อ ถึงเดือนมีนาคมปี 2560
เท่ากับร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินฯ ได้ผ่านวาระแรกไปแล้วครบ 1 ปีพอดี
“แม่ลูกจันทร์” ไม่ทราบว่าเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินฉบับนี้ ยังไม่ได้นำกลับเข้าพิจารณาวาระสองและวาระสาม เพื่อคลอดออกมาประกาศใช้บังคับอย่างเป็นทางการ??
แถมล่าสุด มีการขยายเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเป็นครั้งที่ 6 เพิ่มอีก 60 วัน
“แม่ลูกจันทร์” ไม่มั่นใจว่าหลังจากขยายเวลาพิจารณาครั้งที่ 6 ครบ 60 วัน อาจเกิดอภินิหารทางกฎหมาย ต้องขอขยายเวลาเพิ่มเป็นครั้งที่ 7 ไปอีก 60 วัน
และถ้าหากยังพิจารณาไม่เสร็จ อาจต้องขยายเวลาครั้งที่ 8 ต่อไปอีก 60 วัน
กว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะคลอดออกมาประกาศใช้คงต้องชักตะพานแหงนเถ่อไปอีกหลายเดือน
หรือดีไม่ดี เมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฯ กลับเข้าไปพิจารณาในวาระสองและวาระสามอาจมีใบสั่ง (จากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) กระซิบ สนช.ลากตั้งให้โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1,เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้มีรายละเอียดซับซ้อนนุงนังต้องใช้เวลาตีความมากมายหลายประเด็น
อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในร่าง ก.ม.ฉบับนี้ ส่งผลให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทต้องจ่ายภาษีสูงเกินไป
...
แต่ในบางประเภทกลับจ่ายภาษีต่ำเกินควร
2, ช่วงนี้รัฐบาล คสช.ต้องเร่งสร้างคะแนนนิยมประชาชน เพื่อเป็นบันไดรองรับ “นายกฯคนนอก” ให้สะดวกโยธิน
การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากประชาชนอาจจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมรัฐบาล คสช.ในช่วงกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มพอดี
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับ คสช.มีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” พอๆกัน
เริ่มจากข้อดี...การเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะปั๊มรายได้เข้ากระเป๋ารัฐบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ
การเก็บภาษีที่ดินจะกระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ทำให้คนรวยจำนวนน้อยที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากต้องกระจายที่ดินออกไป
ทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสถือครองที่ดินมากกว่าเดิม
ส่วนข้อเสีย...การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ที่ดินว่างเปล่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินเพื่อการทำธุรกิจ ที่ดินติดจำนองธนาคาร บ้านพักอาศัย ตึกแถวร้านค้า อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโดฯ โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
เป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายประชาชน
โดยเฉพาะคนรวยถือครองทรัพย์สินเยอะย่อมโวยวายเสียงดัง
“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะคลอดเร็ว? หรือคลอดช้า?
หรือจะคว่ำกลางสภา??
รัฐบาลต้องตัดสินใจเอง
ถ้ามั่นใจว่าดีแล้วก็ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าลุย.
“แม่ลูกจันทร์”