เป็นที่ทราบกันดีว่า ระยะเวลาในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเต็มที การเปิดประมูล แหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทยที่ยืดเยื้อมานาน ใกล้ที่จะเห็น ความชัดเจน แต่ที่ต้องจับตาคือขั้นตอนต่างๆจะเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา มีการคัดค้านการให้สัมปทานโครงการปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างต่อเนื่อง อาทิ เครือข่าย ประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ที่มีแกนนำหลักหน้าเดิมๆ ต่อต้านนโยบายของ ปตท.ทุกเม็ดอยู่แล้ว เช่น รสนา โตสิตระกูล หรือ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี หรือ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นต้น และมักจะได้ผลจากความพยายามในการคัดค้านไม่ลืมหูลืมตาทำให้การสัมปทานปิโตรเลียมที่เป็นหัวใจหลักของนโยบายพลังงานแห่งชาติต้องชะลอมาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการประชุมกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและรับทราบหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทีโออาร์ ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซทั้ง 2 แห่งแล้ว โดยจะมีการสรุปรายละเอียด ทีโออาร์ อีกครั้งหนึ่งเพื่อกลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในวันที่ 23 เม.ย.นี้ นับว่ามีความคืบหน้าพอสมควร

เบื้องต้นเท่าที่พอจะสรุปได้คราวๆ คณะกรรมการได้รับทราบหลักการบริหารจัดการแหล่งก๊าซด้วยวิธีการเปิดประมูลในระบบ สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี พร้อมหลักเกณฑ์สำหรับพื้นที่การประมูล แหล่งเอราวัณ ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย.2565 เป็นแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา และเสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เป็นระยะเวลา 10 ปี

ส่วน แหล่งสัมปทานบงกช จะสิ้นสุดการสัมปทานวันที่ 23 เม.ย. 2565 และอีกสัญญาสัมปทานเลขที่ 3/2515/7 จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 7 มี.ค.2566 จะมีการบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา และให้เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำที่ 700 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันเป็นระยะเวลา 10 ปี

...

ขั้นตอนต่างๆนั้น รมว.พลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ชี้แจงในเบื้องต้นไปแล้วว่า จะมีการ เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมประมูล ระหว่างปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ เดือน มิ.ย. และเข้าสู่ ขั้นตอนการประมูล ได้ในเดือน ธ.ค. จนกระทั่งลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ก.พ.2562

อย่างไรก็ตาม มีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซโดยอ้างอิงราคาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การแบ่งกำไรให้กับรัฐจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ปรากฏว่ามีผู้ไม่หวังดีไปปล่อยข่าวสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ประเทศจะสูญเสียผลประโยชน์จากการเปิดประมูลบ้าง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนเดิมบ้าง ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงการเปิดสัมปทานจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงด้วยกำลังการผลิตกว่า 2,100 ลบ.ฟุตต่อวัน หรือร้อยละ 75 ของปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย จะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหน และ ณ จุดนี้พวกที่ชอบค้านไม่ลืมหูลืมตาคือผู้ที่ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์อย่างแท้จริง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th