กรณีเรื่องของการแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตามข้อกล่าวหาเป็นการเอื้อประโยชน์ธุรกิจ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น มีส่วนทำให้รัฐเกิดความเสียหายมีมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาทนั้น
คดีนี้ได้นำออกไปจากสารบบชั่วคราวเนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศ และถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ตามกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่มีผลใช้บังคับให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนได้ และไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีนี้ผ่านมาหลายปีแล้วถ้านับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาก็เกือบ 10 ปี จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีการแปลงสัมปทานมือถือที่เคยต้องจ่ายค่าสัมปทานมาเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิต ซึ่งในแง่ของกฎหมายเป็นดุลพินิจของศาล ในการใช้อำนาจพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่อาจจะก้าวล่วงได้
แต่ในอีกมุมมอง คือผลประโยชน์ของประเทศและผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เป็นการสูญเสียผลประโยชน์ถึง 6.6 หมื่นล้านจริงหรือไม่ ต้องเข้าใจก่อนว่า ความแตกต่างระหว่างการจ่ายค่าสัมปทานกับการจ่ายภาษีสรรพสามิตถึงจะมีความแตกต่างกันในกระบวนการขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศเช่นเดียวกัน
อธิบายง่ายๆคือ การสัมปทาน เงินจะไม่เข้ารัฐหรือเข้าคลังโดยตรง เมื่อเอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้กับองค์การโทรศัพท์หรือ TOT หรือ กสท โทรคมนาคม ถือว่าเป็นรายได้ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จากนั้นก็จะนำไปหักค่าใช้จ่าย หักค่าเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน เงินโบนัสพนักงานเหลือเท่าไหร่ค่อยนำรายได้เข้ารัฐ
...
เงินค่าสัมปทานจึงไม่เข้ารัฐทุกเม็ด แล้วแต่ว่า แต่ละรัฐวิสาหกิจจะหาเหตุผลมาหักเอาจากเงินสัมปทานได้มากน้อยแค่ไหน และเพราะระบบการสัมปทานน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐวิสาหกิจประสบกับการขาดทุนในแต่ละปี จนกลายเป็นการขาดทุนสะสมจำนวนมหาศาล ยิ่งนานก็เหมือนดินพอกหางหมู เนื่องจากรายจ่ายประจำของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นทุกปี
ในอีกลักษณะคือ การจ่ายภาษีสรรพสามิต กรณีนี้ถือว่าเข้ารัฐโดยตรง เก็บมาได้กี่บาทกี่สตางค์ก็นำส่งกระทรวงการคลังขาดไม่ได้แม้แต่บาทเดียวสลึงเดียว
ซึ่งถ้าจะมองว่า เป็นแนวคิดของผู้บริหารซึ่งในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีความแตกต่างกันในการที่จะกำหนดนโยบายบริหาร ประเทศ สุดแล้วแต่ว่า วิสัยทัศน์ ของผู้บริหารจะเป็นอย่างไรก็คงไม่ผิด
ในส่วนของประชาชนได้อานิสงส์จากค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่ถูกลง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสมัยการสัมปทาน ก็เป็นอีกประเด็น แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นคำตอบว่า รัฐเกิดความเสียหายอย่างที่กล่าวจริงหรือไม่
ที่น่าแปลกก็คือ จนถึงวันนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะแก้ไขไปใช้ระบบสัมปทานตามเดิม.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th