วันนี้เป็น "วันปิยมหาราช" วันน้อมรำลึกถึงพระคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  5  ผู้ทรงทำคุณประโยชน์ ต่อประเทศไทยและพสกนิกรชาวไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในด้าน การพัฒนาประเทศ  จนเรียกได้ว่าเป็นการ  "ปฏิวัติประเทศไทย"  หรือ Revolution เลยทีเดียว

แต่ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เป็นวันครบรอบ 100 ปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ท่ามกลางทุกข์น้ำท่วมของคนภาคกลางและอีสาน ผมขอนำเรื่อง "การบริหารจัดการน้ำ" ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเล่าสู่กันฟัง เป็นพระอัจฉริยภาพอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ท่านผู้อ่านคงจำกันได้ สมัยหนึ่ง กรุงเทพมหานคร ได้รับการเรียกขานจากชาวตะวันตกว่าเป็น "เมืองเวนิชแห่งตะวันออก" เพราะในกรุงเทพฯมีคูคลองมากมาย  ผู้คนสัญจรทางเรือในคูคลองคู่ไปกับถนน  แต่วันนี้คูคลองเหล่านี้ถูกถมจนหมดแล้วเหลือแต่คลองหลักๆที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักแต่เดิมเท่านั้น

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงส่งเสริมการขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่าอย่างมากมาย โดยให้ กรมสุขาภิบาล กรมเจ้าท่า และ กรมคลอง ร่วมกันสำรวจที่ดินเพื่อขุดคลอง ตรวจตรารักษาคลอง และ ซ่อมแซมคลอง พระองค์ยังเปิดโอกาสให้เอกชนและราษฎรทั่วไป ขุดคลองตามแนวพระราโชบายและพระราชดำริด้วย ทำให้มีคลองใหม่ๆเกิดขึ้นในกรุงเทพฯมากมาย

คลองแรกที่ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นคือ คลองเปรมประชากร ตามด้วย คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองซอยแยกออกจากคลองใหญ่อีกมากมาย มีการทำประตูกั้นน้ำ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเพาะปลูกและการคมนาคม เช่น ประตูกั้นน้ำคลองภาษีเจริญ ประตูกั้นน้ำคลองรังสิต เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้จากคูคลองสายต่างๆก็คือ ช่วยขนส่งผลิตผลการเกษตรจากแหล่งผลิตออกสู่ตลาดได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และพื้นที่นาสองฟากคลองก็เปิดให้ราษฎรเข้าจับจองทำการเพาะปลูกต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2420 ว่า

"...ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งใจอยู่เสมอที่จะทำนุบำรุงให้ไร่นาบริบูรณ์ขึ้น แลเมื่อปีกลายนี้ ได้ให้ขุดคลองตั้งแต่ศาลากลาง คลองแสนแสบ ถึงปลายคลองท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเปนที่ทุ่งว่างไม่มีไร่นา บัดนี้การก็แล้วไปได้มาก แต่ยังหาเสร็จไม่ แต่ไม่ยอมให้ราษฎรจับจองนาในที่ใหม่ ซึ่งคลองขุดเข้าไปแล้วนั้น ที่ได้รับใบจองไปแล้วก็มาก แลได้ลงมือทำนาในฤดูนี้ก็มีบ้าง เปนนาจองแล้ว 18,800 ไร่เศษ ที่เนื้อที่ยังมีอยู่อีกนั้น ราษฎรก็ได้มาลงชื่อไว้แล้วทั้งสิ้น กำลังแจกใบจองอยู่ เปนเนื้อนาจะได้ถึง 30,000 ไร่ ในปีหลังๆต่อไปคงจะเกิดข้าวขึ้นในคลองนี้มากขึ้นทุกปี

แต่ที่นาตามลำคลองนั้น ยังหาพอกับราษฎรที่มาลงชื่อไม่ ยังคิดอยู่ว่าจะขุดคลองเปนนา ให้ราษฎรทำนาลึกๆเข้าไปอีก จะให้ได้ ลงมือทำการขุดคลองในปีนี้ พอลูกจ้างที่หยุดการสีข้าว จะได้ทำการขุดคลองไปกว่าจะได้ทำการสีข้าวใหม่ ขอให้ฝนและน้ำบริบูรณ์ในปีหน้าเทอญ..."

เห็นไหมครับว่า รัชกาลที่ 5 ท่านทรงบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร

โครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งจากพระราชดำริของ รัชกาลที่ 5   ก็คือ  โครงการชลประทานที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หรือ โครงการเขื่อนเจ้าพระยา ที่พระองค์โปรดเกล้าฯให้ นายแวน เดอ ไฮเด อธิบดีกรมคลองคนแรก จัดทำโครงการขึ้น โดยใช้งบประมาณสมัยนั้น 60 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่นาเพาะปลูกได้ถึง 4,500,000 ไร่ แต่เสียดายที่เงินงบประมาณไม่พอ พระองค์จึงนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนสร้าง ทางรถไฟ ที่จำเป็นต่อความมั่นคงมากกว่า แต่สุดท้าย เขื่อนเจ้าพระยา ก็ได้มีการก่อสร้างและเปิดใช้เมื่อต้นปี 2500 เป็นเขื่อนแรกของประเทศไทย

ข้อมูลเหล่านี้ผมนำมาจากหนังสือ "ธิราชเจ้าจอมสยาม" หนังสือรำลึกร้อยปีสวรรคตของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ ธนาคารกสิกรไทย จัดทำขึ้นครับ.

...

"ลม เปลี่ยนทิศ"