ในท่ามกลางบรรยากาศอันโกรธขึ้งขุ่นมัวด้วยความไม่พอใจกับพฤติกรรมของคนใหญ่คนโตในบ้านเรา ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้...แต่คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็ยังมีอารมณ์ขัน
เป็นอารมณ์ขันแบบประชดประชันและแสบๆคันๆว่างั้นเถอะครับ
ดังเช่นในเฟซในไลน์ และในอินสตาแกรมจะมีคำพูดยาวๆหลายประโยคที่แชร์กันต่อๆไปอย่างแพร่หลายว่า
“เชื่อแล้วว่าเศรษฐกิจบ้านเราตกต่ำจริง...คนขนาดรองนายกรัฐมนตรียังต้องยืมนาฬิกาเพื่อนใช้ แถมคนขนาดเป็นอดีต ผบ.ตร.ก็ยังต้องยืมเงินเพื่อนใช้ และคนขนาดเป็นเจ้าสัวใหญ่บริษัทก่อสร้างแสนล้านยังอดอยากถึงขั้นเข้าป่าล่าสัตว์หาอาหารกิน”
ผมขออนุญาตนำมาบันทึกไว้ในคอลัมน์ของผม ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อกระดาษที่สามารถตัดเก็บไว้ได้ หรือหอสมุดแห่งชาติท่านอาจจะเก็บไว้เผื่อว่าจะมีลูกหลานในอนาคตที่อยากรู้เรื่องอดีตจะมาค้นอ่าน
เพราะปล่อยให้ล่องลอยในอากาศตามเทคนิคของระบบอินเตอร์เน็ต แม้จะไม่สูญหายไปไหนแต่ถ้าไม่รู้จักวิธีค้นหรือดึงลงมาใช้ได้ ก็จะไม่รู้ว่าประโยคยาวๆประโยคนี้เคยฮิตอยู่ในเมืองไทย
นอกจากจะคัดลอกมาเพื่อตีพิมพ์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแหล่งสำหรับเป็นหลักฐานในการค้นหาในอนาคตแล้ว ผมยังตั้งใจจะนำมาเขียนเพื่อ ยืนยันว่า “อารมณ์ขัน” เป็นคุณสมบัติประจำชาติอย่างหนึ่งของชนชาติไทย
ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดุเดือดอย่างไร หรืออยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากขนาดไหน คนไทยก็ยังมีอารมณ์ขันอยู่เสมอๆ
ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษาเปิดเวทีอภิปรายรัฐบาลในยุคดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากบริเวณ “ลานโพธิ์” หน้าคณะศิลปศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น
นอกจากจะมีการพูดจาอย่างเป็นการเป็นงาน เอาจริงเอาจังเต็มไปด้วยความดุดันในแทบจะทุกประโยคแล้วก็จะมีละครเบาสมองประเภทแสดงล้อเลียนมาสลับฉากด้วยเสมอ
...
เรียกเสียงเฮฮาเรียกหัวเราะได้อย่างครึกครื้น
พอดึกมากๆก็จะมี “ลำตัด” มาสลับฉาก จำได้ว่าเป็นของคณะ “สร้าง บุญศรี” ไม่ทราบจากมหาวิทยาลัยไหน มีบทลำตัดมันๆกระทบชิ่งผู้ปกครองประเทศในยุคนั้นได้อย่างแสบๆคันๆ
อีกหนึ่งการแสดงล้อเลียนด้วยอารมณ์ขันที่ฮิตมากในยุคก่อนก็คือ “งิ้วการเมือง” ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมา
กลายเป็นของธรรมศาสตร์โดยรวม เพราะมีดาราแสดงจากทุกคณะมารวมตัว
ผมไม่แน่ใจว่าในช่วง 14 ตุลาคม งิ้วธรรมศาสตร์จะมาขึ้นเวทีลานโพธิ์ด้วยหรือไม่ จำได้แต่ว่างิ้วการเมืองที่ล้อเหตุการณ์บ้านเมืองได้อย่างสะใจคนดูคณะนี้เป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อ 40-50 ปีก่อนโน้น
แม้การใช้อารมณ์ขันหรือการล้อเลียนต่างๆจะทำให้เหตุการณ์ดูเบาลง จนดูเหมือนกับว่าจะมาทำให้เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่มีการเรียกร้อง หรือร้องขอต้องพลอยกลายเป็นเรื่องเบาๆไปด้วย
อาจจะเป็นผลให้การเรียกร้องหรือสิ่งที่กำลังต่อสู้ หรือต่อรองกันอยู่นั้นไม่เป็นผลสำเร็จ
แต่จากประสบการณ์ของประเทศไทย การใช้อารมณ์ขันมาสลับฉากมักนำไปสู่ความสำเร็จอยู่เสมอ รวมทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่จบลงด้วยชัยชนะเป็นของนิสิตนักศึกษาและประชาชน
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะอารมณ์ขันสามารถช่วยดึงดูดผู้ฟังหรือผู้เข้าชุมนุมให้สามารถนั่งชุมนุมอยู่ได้นานๆและยืดเยื้อ
ถือเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศ เพราะถ้าพูดหรืออภิปรายแต่เรื่องเครียดๆเอาเป็นเอาตายอย่างเดียว คนจะเบื่อจะเครียด และจะนั่งอยู่ได้ไม่นาน
ในการต่อสู้เรียกร้องบางเรื่อง จะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน จึงจะต้องหากลยุทธ์ มาดึงใจมวลชนที่สนับสนุนเราให้อยู่กับเราไปตลอด
เพราะฉะนั้น ที่มีการคิดมุกสนุกๆว่าด้วยเรื่องการยืมนาฬิกาเพื่อน การยืมเงินเพื่อน หรือเข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหารแก้จน จึงเท่ากับเป็นการทำให้มวลชนไม่เบื่อในประเด็นเรื่องนี้นั่นเอง
เนื่องจากการต่อสู้ชุดนี้ยังยาวนานและยังไม่จบ จะต้องหามุกสนุกมาทำให้ประชาชนติดตามอยู่เรื่อยๆ ไม่งั้นอาจจะโดนกระแสเรื่องใหม่ๆเข้ามาช่วงชิงความสนใจ ซึ่งในยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้มักจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ใครมีมุกดีๆ เรื่องยืมนาฬิกา เรื่องยืมเงินเพื่อน หรือเรื่องเข้าป่าล่าสัตว์ ช่วยกันคิดและส่งผ่านโซเชียลไปเรื่อยๆนะครับ.
“ซูม”