สถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ก้าวสู่ความร้อนแรงและตึงเครียดอีกครั้ง หลายฝ่ายดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งนักการเมืองและภาคประชาชน เริ่มตั้งแต่กล่าวหารัฐบาล คสช.พยายามสืบทอดอำนาจ ด้วยการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเลื่อนเลือกตั้งจากที่เคยสัญญา ผสมด้วยข่าวอื้อฉาวเรื่องนาฬิกาหรู
หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ติดต่อกันนานแรมเดือน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ประกาศว่าถ้าประชาชนไม่ต้องการ ตนพร้อมที่จะออกจากตำแหน่ง และได้รับการตอบสนองจากภาคประชาชนทันที หลายฝ่ายออกมาสำรวจถามความคิดเห็นประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคม และผลเป็นอย่างที่คาด
ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแค่ 24 ชั่วโมง ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีผู้แสดงความคิดเห็นถึง 192,000 ราย คนส่วนใหญ่ 184,000 ราย หรือ 96% เสนอแนะให้ พล.อ.ประวิตรออกไปพักผ่อน มีเพียง 8,500 ราย ขอให้อยู่ต่อไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกหลายรายที่กำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าผลที่ออกมาจะไม่ต่างกัน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ก็ออกอาการร้อนรุ่มพอกัน ถึงกับประกาศให้เลือกเอาระหว่าง “ผม” หรือจะเลือกแบบเดิม แสดงถึงความมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกตน ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่า 4 และ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการให้ได้รับคำตอบถึง 1.4 ล้านคน
การอ่านคำตอบของประชาชนนับล้านๆ อาจทำให้นายกรัฐมนตรีรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ แต่อาจลืมไปว่าการสอบถามความเห็นประชาชน ผ่านทางหน่วยราชการ ไม่ใช่การสำรวจความเห็นที่ถูกต้องตามหลักการทำโพล เพราะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐระดมประชาชนออกมาตอบคำถามได้ เช่นเดียวกับการถามเรื่อง พล.อ.ประวิตร ก็อาจไม่ใช่โพลแท้ทั้งหมด
...
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับการปิดกั้น การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของประชาชน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า คสช.เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ผู้กุมอำนาจสูงสุด แต่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ชี้ว่า คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ประชาชนกลายเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ตัวจริง
รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แม้จะมีบทเฉพาะกาลให้ คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ แต่ไม่สามารถใช้ ม.44 แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพราะ “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” ไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งใดจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าหากบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา.