"องอาจ" แนะ คสช.อย่าปิดกั้น "ล้อการเมือง" งานบอลประเพณี "จุฬาฯ-มธ." ชี้ใช้อำนาจเกินขอบเขต จะสะท้อนย้อนใส่ตัว "รัชดา" ลั่นโดนทุกรบ.แนะ คสช.อย่าคิดมาก

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.61 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาล คสช.สั่งเซ็นเซอร์และห้ามขบวนล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นนาฬิกาหรู โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบไปตรวจสอบกิจกรรมนักศึกษาก่อนแสดงว่า ผู้มีอำนาจควรระมัดระวังการใช้อำนาจ เพราะหากใช้อำนาจมากเกินไปจนเกินขอบเขต เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาตามมาได้

เพราะกรณีขบวนล้อการเมืองของนักศึกษาสองสถาบัน เป็นข้อเท็จจริงปรากฏในสังคมมาตลอดทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ก็ถูกล้อการเมืองเป็นเรื่องปกติตามประเพณีปฏิบัติ รัฐบาล คสช.จึงไม่ควรปิดกั้นการแสดงออกความคิดความเห็นผ่านกิจกรรมขบวนแห่ล้อการเมืองของนักศึกษา ถ้ารัฐบาล คสช.เข้าไปปิดกั้นหรือแทรกแซง ก็จะถูกสังคมมองว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตไม่เว้นแม้แต่นิสิตนักศึกษา แต่หากปล่อยให้พวกเขาจัดกิจกรรมจนจบ โดยไม่ถูกแทรกแซงใดๆ ก็ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของรัฐบาล

อีกทั้งรัฐบาล คสช.ยังได้รับรู้ความคิดความเห็นของนักศึกษา เยาวชน ต่อปัญหาการเมือง และพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ ซึ่งรัฐบาลคสช.สามารถใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยการนำเรื่องดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงให้สังคมพึงพอใจ แต่หากเลือกที่จะปิดกั้น นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ที่สุดผลสะท้อนกลับจะเป็นบูมเมอแรงกลับมาสู่รัฐบาล คสช.เอง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลอย่ากังวล อย่าอ่อนไหวกับกิจกรรมเหล่านี้มากเกินไป เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นงานบอลประเพณี ซึ่งจะมีขบวนแห่ล้อการเมืองในยุคนั้นๆ และที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็ถูกล้อเลียนถือเป็นเรื่องปกติ การถูกล้อเลียนหรือถูกคอมเมนต์ผ่านคำพูดต่างๆ ควรเปิดใจรับฟัง ยิ่งนายกฯประกาศตัวเองว่าเป็นนักการเมือง ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่พึงรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้

...

หากมองมุมบวกกรณีที่นายกฯ ระบุว่า อยากได้คนรุ่นใหม่ใส่ใจการเมือง ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก็ควรเปิดพื้นที่ ให้นิสิตนักศึกษาเยาวชนได้แสดงออกความคิดเห็นตามทัศนคติของเขา นอกจากจะได้ความตื่นตัวสนใจทางการเมืองของนักศึกษา ที่ทำการบ้าน สนใจปัญหาของบ้านเมือง นำไปสู่การใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกนักการเมืองที่ดี คนดีเข้ามาบริหาร เพราะปัญหาหนึ่งของสังคมไทย คือ คนไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจปัญหา ไม่หาข้อมูลต่างๆ แต่เลือกตามกระแส ขณะที่นิสิตนักศึกษาเองก็ต้องมีลิมิตหรือข้อจำกัด ในการแสดงออกที่พอสมพอควร ไม่ใช่เลยเถิดด้วยเช่นกัน