ที่ประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นัดแรก ปรับแผนยุทธศาสตร์น้ำจาก 10 ปี เป็น 20 ปี ให้ สทนช. บูรณาการโครงการจัดการน้ำทั่วประเทศ 44 โครงการ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง มั่นใจ รับมือสถานการณ์ภัยแล้งได้

วันที่ 2 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า วันนี้ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ คณะกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ โดยปรับแผนยุทธศาสตร์ จาก 10 ปี เป็น 20 ปี และคณะกรรมการกลั่นกรองและวิเคราะห์ประเมินผล ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณ จะมีงบฯ ประจำปีอยู่แล้วประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 61 ได้งบฯ ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยงบฯ ที่ได้รับ จะเน้นนำไปพัฒนาและดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและกักเก็บน้ำ ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงานและโครงการขนาดใหญ่ ที่ให้มีการจัดทำแผนในระยะ 20 ปี จะระบุแผนงานเร่งด่วนในแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 61 ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป ต้องมีการศึกษาออกแบบการลดผลกระทบในพื้นที่ โดยในที่ประชุมวันนี้ได้นำเสนอโครงการขนาดใหญ่ในทุกภูมิภาค จำนวน 44 โครงการ

ยืนยันว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. จะเป็นหน่วยงานในการบูรณาการข้อมูลแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างครบถ้วน วางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ยืนยันว่า สทนช. มีแผนรองรับ และเชื่อว่าจะรับมือได้

...

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่ดำเนินการมาใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยยังมีจุดที่เป็นปัญหา คือ นำ้อุปโภคบริโภค ที่เคยประกาศไว้ว่าปี 2561 จะได้ครอบคลุม ปัจจุบันมีประมาณ 256 หมู่บ้าน ที่ยังมีปัญหาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่ได้รับมอบหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2562 เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำในภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและอีอีซี ที่ยังต้องเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งตามแผนงานของกรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง มีมาสเตอร์แพลนไว้แล้ว ซึ่งในอนาคตจะทำงานบูรณาการกับกรมชลประทาน และจัดทำเรื่องการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ โดยปรับแผนให้กรมเจ้าท่า แก้ปัญหาเรื่องการขุดลอกแม่น้ำสายหลักภายในปี 2562-2563 ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม แม่น้ำชี ส่วนพื้นที่ป่าต้นน้ำ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหน่วยงานดูแล เรื่องจากมีงบประมาณ ดูแลด้านนี้อยู่แล้ว

เลขา สทนช. ยังกล่าวว่า หลังจากนี้ สทนช.จะนำงบประมาณที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 130,000 ล้านบาท ไปปรับปรุง โดยโครงการที่ถูกนำเสนอในช่วง ครม.สัญจร ก็จะได้รับการพิจารณาตามที่ร้องขอ เช่น ในกรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เสนอโครงการเติมน้ำเพื่อดำเนินการในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับในปี 2562-2565 สทนช.มีแผนโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยจะดำเนินการในลักษณะแพ็กเกจ ซึ่งแผนงานหลักๆ ในภาคอีสาน คือการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ที่มีปัญหาในช่วงมรสุมที่ผ่านมา แก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง จ.ชัยภูมิ โคราช อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และแม่น้ำเลย ซึ่งขณะการศึกษาข้อมูลค่อนข้างพร้อมแล้ว เตรียมเดินหน้าปฏิบัติ

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ โครงการต่างๆ เน้นไปที่ จ.สุโขทัย เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้ใช้วิธีแก้ไขปัญหาตามแผนบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งบางระกำ รองรับน้ำจาก จ.สุโขทัย และ พิษณุโลก แต่เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว จึงมีการดึงน้ำและผันน้ำ ระหว่างแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน เข้าด้วยกัน รวมถึงระบบประตูระบายน้ำ และระบบกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ตามที่ท้องถิ่นต้องการด้วย ซึ่งการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินการแล้วเสร็จ กำลังจะดำเนินการขับเคลื่อนในปลายปี 2562

ขณะที่ในพื้นที่ภาคกลาง จะเป็นการแก้ปัญหา ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ 9 แผนงาน วงเงินกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จะจัดลำดับความสำคัญ โดยในปี 2561 ดำเนินการประตูระบายน้ำได้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงโครงการขนาดใหญ่อีก 1 โครงการที่รออยู่ อาจจะเริ่มการก่อสร้างในปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว ที่กำหนดปักเขตให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในการก่อสร้างโครงการระบายน้ำ บางบาล บางไทร

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ เน้นเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งขณะนี้มีเจ้าภาพในการดำเนินงานแล้ว 111 แห่ง เหลือเพียงทำระบบระบายน้ำตอนล่างเชื่อมกับทะเล ที่ดำเนินการไปแล้ว และจะมีโครงการไปครอบคลุมในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญคือ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เน้นในพื้นที่ EEC โดยกรมชลประทาน ได้เสนอโครงการเร่งด่วนขึ้นมาทำใน 2 ปี ให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในช่วง 10 ปี หลังจากนี้ไป แต่เพื่อความไม่ประมาท นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ทำแผนโดยนำน้ำทุกหยดในประเทศกลับมาใช้ ควบคู่ไปกับปริมาณการใช้น้ำ รวมไปถึงการรีไซเคิลน้ำในภาคอุตสาหกรรม

นายสมเกียรติ ยังระบุว่า แผนงานที่เตรียมเสนอเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ คือ 1. แผนแก้ไขปัญหาเมืองน้ำท่วมที่ จ.ชัยภูมิ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอทำบายพาสผันน้ำอ้อมเมือง เป็นอันดับแรก และเป็นโครงการขนาดใหญ่งบประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดปริมาณที่มาจากทางเหนือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 2. เป็นโครงการต่อเนื่องที่จะต้องสนับสนุนการเพาะปลูก ในบริเวณ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี โดยดึงแม่น้ำป่าสัก และจากเขื่อนป่าสักมาใช้ และ 3. โครงการน้ำบาดาล และน้ำประปา ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยจะต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น้ำประปาหายาก โดยนำน้ำบาดาลออกมาใช้ให้ได้