กรธ.ขอตั้งคณะศึกษารายละเอียดร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว.ก่อน อุบตอบทำความเห็นโต้แย้ง ตั้ง กมธ.หรือไม่ "มีชัย" ยันร่าง กรธ.ป้องกันพรรคการเมืองแทรกแซง ฟุ้งเป็นหลุมพรางเขียนไว้ พรรคไหนฝืนมีสิทธิ์ถูกยุบ
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 61 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยจากนี้ กรธ.จะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาแยกรายฉบับ ทั้งนี้ ตนตอบไม่ได้ว่าจะทำความเห็นโต้แย้ง เพื่อนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ เพราะต้องรอฟังความเห็นจากที่ประชุม กรธ. และพิจารณารายละเอียดที่ถูกปรับแก้ไปเป็นจำนวนมากก่อน ซึ่ง กรธ.มีเวลาพิจารณาจนถึงวันที่ 9 ก.พ. สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.แก้ไขมาตรา 2 ว่าด้วยระยะเวลาที่กฎหมายใช้บังคับให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน เหตุผลของ สนช.นั้นรับฟังได้ แต่จำเป็นต้องดูรายละเอียด อาทิ การยกเว้นให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถออกระเบียบหรือคำสั่งที่ใช้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่ หากไม่ยกเว้นให้กระทำได้ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จะเกิดความยุ่งยาก และปัญหากับพรรคการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) เพื่อหาตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งลงสมัคร ส.ส.
นายมีชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มา ซึ่ง ส.ว.ตามประเด็นที่ สนช.แก้ไข อาทิ การกำหนดกลุ่มผู้มีสิทธิสมัครเหลือ 10 กลุ่มอาชีพกำหนดประเภทสมัคร ที่มาจากการเสนอชื่อโดยองค์กรนิติบุคคลหรืออิสระ วิธีการเลือกกันเอง ที่แก้ไขเหลือเพียงเลือกกันเองในกลุ่มเท่านั้น อาจเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา และอธิบายถึงความมุ่งหมายในเจตนาของ กรธ.ที่ต้องการให้ ส.ว.เป็นสภาของประชาชนมากกว่า ส.ว.ในความหมายผู้ทรงคุณวุฒิ และการแบ่งกลุ่มต้องให้ประชาชนได้รับสิทธิ์สมัครได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การปรับลดกลุ่ม การแก้ไขวิธีการเลือก หรือจำกัดการสมัคร ผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนวิธีการเลือก ส.ว.นั้น กรธ.พยายามออกแบบกลไกเพื่อไม่ให้เกิดการสมยอม อีกทั้งยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองแทรกแซงผ่านผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนพรรค ซึ่งยอมรับว่าเป็นหลุมพรางที่ กรธ.เขียนไว้ และหากพรรคยังดำเนินการแทรกแซงมีสิทธิ์ถูกยื่นยุบพรรคได้
...
เมื่อถามว่า ปัญหาในร่างกฎหมายที่ต้องทบทวนอาจเป็นปัจจัยทำให้การเลือกตั้งถูกล้มกระดานหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนที่หลายฝ่ายประเมินว่า หากร่างกฎหมายมีความขัดแย้ง ทั้ง กมธ.ร่วม และส่งไป สนช.อาจถูกโหวตคว่ำนั้น ตนตอบไม่ได้ แต่หากเกิดขึ้น สนช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ