(จิรชัย มูลทองโร่ย)
หลังจากที่เงียบหายไปนานหลายเดือน การปฏิรูปสื่อมวลชนก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง มีรายงานข่าวว่านายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เสนอแผนการปฏิรูปสื่อ ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นแผนปฏิรูปที่ครอบคลุมสื่อในทุกสาขา
มีทั้งแผนการปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน แนวทางส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อ เพื่อบังคับใช้ในปี 2561 และจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่ง ในปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การตัดร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมการชุดก่อนเคยเสนอ และเน้นการควบคุมกันเองของสื่อ
ร่างกฎหมายการจัดระเบียบ หรือการปฏิรูปสื่อมวลชน เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันนานแรมปี เพราะถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ร่างแรกๆที่เสนอ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมาจากหลายส่วน มาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จากองค์กรภาคประชาชน และจากภาครัฐ
ร่างแรกๆที่เสนอโดยคณะกรรมการ ให้กรรมการภาครัฐมาจากปลัดกระทรวงหลายคน จึงถูกวงการสื่อคัดค้าน เนื่องจากสภาวิชาชีพมีอำนาจหน้าที่ ในการรับขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งอำนาจในการควบคุมสื่อด้านต่างๆ จึงหวั่นเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้รัฐบาลแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อ
ร่างกฎหมายที่เสนอในช่วงแรก สะท้อนถึงการมองสื่อด้วยสายตาอำนาจนิยมถือว่ารัฐต้องควบคุมสื่อให้อยู่ในระเบียบ ตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ จึงต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อขึ้นทะเบียน และขอใบอนุญาตประกอบอาชีพจากสภาสื่อ อ้างว่าแม้แต่หมอนวดแผนโบราณ ก็ยังต้องมีใบอนุญาตแต่ไม่ได้มองว่าการทำหน้าที่สื่อจะต้องเป็นอิสระจากรัฐ
...
ทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับรัฐ อาจแยกได้เป็นแบบอำนาจนิยม ที่ถือว่ารัฐจะต้องควบคุมสื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกติกาของรัฐ และแบบอิสรภาพนิยม ที่ถือว่าสื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสนอข่าวสาร แบบเดียวกับประชาชนทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย ต่อมาวิวัฒนาการเป็น “ทฤษฎี ความรับผิดชอบต่อสังคม”
สื่อกระแสหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ อาจขาดตกบกพร่องในด้านจริยธรรม หรือขาดความรับผิดชอบอยู่บ้าง ในหลายกรณี จึงพยายามตั้งองค์กรเพื่อควบคุมกันเอง แต่ยังขาดประสิทธิภาพ แต่สื่อก็พร้อมที่จะยึดถือหลักการ “มีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ” ควบคุมกันเอง โดยมีภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบ.