กระตุกฝ่าย ปชต.สู้เผด็จการ แฉเพิ่ม ‘อำนาจกกต.’ ล้นฟ้า

พท.เชื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศลุยการเมือง ส่อใช้ ม.44 สร้างความได้เปรียบ ชวนทุกพรรคจับมือสกัดนายกฯคนนอก ไม่เชื่อป้องกันปฏิวัติแต่สร้างความขัดแย้งมากกว่า ปชป.ไม่แปลกใจ “บิ๊กตู่” ประกาศเป็นนักการเมือง ชี้เป็นจังหวะเคลื่อนตามแผนสืบอำนาจ คาดงัด ม.44 แผ้วทางสู่เป้าหมาย “ชวน” กระตุกฝ่ายประชาธิปไตยยืนหยัดสู้เผด็จการ ไม่หวั่น “เทือก” ตั้งพรรค ลั่น ปชป.พร้อมสู้ไม่ว่าหน้าไหน แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ไม่เคยน็อก ระบุยังไม่คิดเรื่องจับมือ พท. แต่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ ก.ม.ลูก ส.ส.ถึงมือ สนช. 18 ม.ค. กมธ.ติดดาบเพิ่มอำนาจ กกต.ค้นผู้สมัครไม่ต้องมีหมายศาล “เรืองไกร” แทงหนังสือจี้ ป.ป.ช.อายัดนาฬิกา “บิ๊กป้อม” โวยทำงานสุดอืด “หมวดเจี๊ยบ” ดักคอ ป.ป.ช. อย่าแก้เกณฑ์รับของเกิน 3 พันฟอกขาวให้นายกฯ ด้านเลขาฯ ป.ป.ช.เชื่อหลักเกณฑ์เดิมดีอยู่แล้ว ทนาย พธม. ตั้งแท่นฟ้องหากแกนนำโดนยึดทรัพย์ไม่ถูก ก.ม.

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาประกาศตัวว่าเป็นนักการเมือง พร้อมระบุเงื่อนไขการมีนายกฯ คนนอก สามารถป้องกันการปฏิวัติได้ โดยไม่ปิดทางตัวเองในการเป็นนายกฯ คนนอกนั้น ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการเมือง

พท.อัด “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เอาเปรียบ

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้วนั้น ก็อยากฝากถึงการใช้มาตรา 44 หลังจากนี้จะต้องมีความเหมาะสมและระมัดระวังมากขึ้น แต่คงหวังอะไรไม่ได้ เพราะยิ่งอยากเป็นนักการเมือง อยากเป็นนายกฯ คนต่อไป ยิ่งต้องพยายามหาหนทางให้ได้เปรียบทางการเมือง อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขยายเวลาการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีประเด็นหนึ่งที่คนอาจไม่ได้มอง คือการให้พรรคการเมืองใหม่สามารถจดทะเบียนพรรคและหาสมาชิกพรรคได้ก่อนพรรคการเมืองเก่า ที่แฝงมาด้วยคือเมื่อมีการจดทะเบียนพรรคต้องมีการประชุม ต้องมีนโยบายพรรคออกมา และการจะหาสมาชิกพรรคต้องประกาศนโยบายพรรค เชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้นจะมีคนออกมาถามว่าทำไมหาเสียงก่อนคนอื่นได้ เอาตรงๆ คือมันมาเป็นแพ็กเกจแบบนั้น ถามว่าแล้วอย่างนี้ได้เปรียบไหม ไม่ใช่เรื่องธุรการอย่างที่ท่านว่าเท่านั้น เป็นความได้เปรียบจากมาตรา 44 หลังจากนี้นักการเมืองต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ชิงความได้เปรียบอีกหรือไม่

...

ไทยแลนด์โอนลี่ ลต.ใต้อำนาจพิเศษ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังอยู่ในฐานะฝ่ายบริหารมีอำนาจบริหารประเทศ จัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. โดยมีมาตรา 44 เป็นอำนาจพิเศษกำกับอยู่ การเลือกตั้งสมัยหน้าจะเป็นการเลือกตั้งแปลกที่สุดในโลก เพราะไม่มีนักการเมืองประเทศไหนที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ทั้งก่อนมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และภายหลังการเลือกตั้ง เรื่อยไปจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ถือเป็นเรื่องน่าห่วง จะกระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศอย่างยิ่ง

ชวนทุกพรรคสกัดนายกฯ คนนอก

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ระบุว่านายกฯ คนนอกจะป้องกันการปฏิวัติได้นั้น ตามระบบประชาธิปไตยผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากประชาชน ดังนั้นผู้แทนราษฎรที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนต้องคัดสรรบุคคลตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกฯ ให้ได้ ตามมารยาทแล้วก็ต้องให้พรรค การเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มากที่สุดเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเลือกคนในบัญชีพรรค การเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ หากไม่เป็นไปตามนี้จะพูดไม่ได้เลยว่านายกฯ มาจากประชาชน แม้กติกาจะเขียนเปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เข้าชื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อคัดเลือกคนนอกบัญชีเป็นนายกฯ ได้ ถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่ตนคิดว่าถึงอย่างไรก็ควรเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะเดียวกันตนยังมองว่านายกฯ คนนอกไม่อาจป้องกันการปฏิวัติได้ ในทางกลับกันอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง กลับไปเจอทางตันอีก สุดท้ายเราก็หลีกหนีปัญหาเดิมๆ ไม่พ้น ดังนั้นทางที่ดีทุกพรรคควรจับมือกันไม่เอานายกฯ คนนอก แล้วเดินไปตามระบบประชาธิปไตย

ปชป.ชี้ “บิ๊กตู่” เผยตัวตนสืบอำนาจ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศตัวเป็นนักการเมืองและไม่ปิดทางตัวเองในการเป็นนายกฯคนนอก ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย การประกาศครั้งนี้น่าจะผ่านการกลั่นกรองเตรียมการมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นยุทธวิธีเคลื่อนไหวทางการเมืองตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ ที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตามแผนการหลักๆ ผ่านแม่น้ำ 5 สาย ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช. โดยให้ กรธ.จัดทำรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจ ให้มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน เลือกนายกฯได้ และให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเลือกนายกฯคนนอก ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้ และยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่สนับสนุนการทำงานหลังจากสืบทอดอำนาจ การจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ และการเลือกตั้ง ที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ แม้กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้แล้วก็ไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ จากนั้นก็ใช้มาตรา 44 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสาระของกฎหมาย เพื่อรีเซ็ตสมาชิกพรรค ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกระบวนการนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ

เชื่อตะลุยใช้ ม.44 แผ้วทางสู่ฝัน

นายองอาจกล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดรับการสืบทอดอำนาจหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตั้งคำถามประเด็นการเมืองให้ประชาชนตอบ การลงพื้นที่ที่มีความถี่สูง การอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการต่างๆ เครือข่ายของผู้มีอำนาจหลายฝ่ายได้เดินสายขยายฐาน รวบรวมนักการเมือง พรรค การเมือง จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นฐานรองรับการเข้าสู่อำนาจตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ เชื่อว่านับจากนี้ไปอาจมีการใช้มาตรา 44 หรือใช้ อำนาจต่างๆ เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรค ทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่ตนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่นั้น สำคัญที่ช่วงหนึ่งปีกว่าหลังจากนี้ จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่านายกฯและรัฐบาล ตลอดจนบริวารแวดล้อมทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม แต่ถ้าใช้อำนาจเพื่อตนเอง พวกพ้อง ปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หนทางแห่งการสืบทอดอำนาจก็อาจจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

“ชวน” กระตุก ปชต.ต่อสู้เผด็จการ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการสืบทอดอำนาจว่า สมัยก่อนเราเชื่อว่าไม่เป็นอะไรหากรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยสามารถแก้ไขได้ แต่โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็เก่งทำให้แก้ยาก ในช่วงที่ตนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สวนกระแสประชาชนพอสมควร เพราะมองว่าเป็นการรับสิ่งที่เป็นปัญหาต่อบ้านเมือง อย่างน้อยเป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย คิดในใจว่าจะหักหลังระบบที่เรามีมาอย่างนั้นหรือ ฉะนั้นจึงไม่รับ เราอยากให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกปกครองบ้านเมือง ถ้าเพี้ยนไปจากประชาธิปไตยก็ไม่ใช่แนวทางของเรา อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์คิดว่ามันไม่ใช่อุปสรรคที่ถึงขั้นบริหารประเทศไม่ได้ เพียงแต่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันยากกว่าระบอบเผด็จการ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ไม่หวั่นไหว “เทือก” ตั้งพรรค

เมื่อถามว่า กลุ่ม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์จะตั้งพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จะต่อสู้กับพรรค การเมืองอื่นหรือพรรคทหารได้อย่างไร นายชวนตอบว่า “ถ้าจำได้พรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนหยัดอยู่ตรงมุม บางทีคู่ต่อสู้มาต่อยเรา เราก็แพ้เขาไป เราไม่เคยน็อก มีแต่แพ้คะแนน แล้วก็กลับมาใหม่ ตัวต่อยชนะเราลงจากเวทีตายไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย แต่เราอยู่ตลอด เรื่องธรรมดา ในแง่ของคนทำงานการเมืองที่แน่วแน่ ไม่กลัวหรอก อย่างดีก็แพ้ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”

เย้ยขุนพรรคใหม่-ฆ่าพรรคเก่า

เมื่อถามถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อไป นายชวนตอบว่า เราเป็นคนทำงาน เจอปัญหามาตลอดชีวิต มันไม่เป็นอะไร ก็สู้ไป มันไม่ใช่เรื่องประโยชน์ของพรรค แต่มันเรื่องหลักการ พรรคต้องพยายามยืนยันหลักการ หัวหน้าพรรคก็พยายามยืนยันหลักการ ไม่ใช่จะทำให้พรรคเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ปัญหานั้นมันปลีกย่อย

“เดิมปัญหานี้ไม่มี ยืนยันไม่มายุ่งเรื่องนี้ แต่ตอนหลังทำไม ก็พออ่านออกว่าจะตั้งพรรคใหม่ ต้องทำให้พรรคใหม่โตเร็ว วิธีการคือใส่ปุ๋ยเยอะๆ และเอายาฆ่าแมลงมาใส่ต้นโต วิธีนี้ไม่ถูก ในฐานะคนทำงานเจอปัญหามาทุกเรื่อง ไม่เป็นไรหรอก มีปัญหาขึ้นมาก็แก้กันไป บอกสมาชิกอย่าไปเรียกร้องอะไรเยอะ ทั้งปลดล็อก ชาวบ้านรำคาญ ยางราคาตก จะปลดล็อกอะไร รัฐบาลเขารู้กฎหมายมากกว่าเรา ถ้ารู้ว่าทำอะไรพลาดต้องรับผิดชอบ ปล่อยเขา ถ้าเขาไม่อยากทำเขารับผิดชอบเองวันข้างหน้า”

นายชวนกล่าว เมื่อถามว่า ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์จะหล่อหลอมให้สมาชิกพรรคเป็นปึกแผ่นเพื่อสู้กับคู่แข่งอย่างไร นายชวนตอบว่า เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่ในฐานะที่เป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรค มีประสบการณ์เป็นหัวหน้าพรรคมาก่อน เห็นปัญหามามาก พอจะมองอะไรที่ ใกล้เคียงกับความจริง ก็พยายามแนะนำเสริมหัวหน้าพรรคที่วางไว้

ยังไม่คิดแต่ไม่แน่ ปชป.จับมือ พท.

เมื่อถามว่า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร นายชวนตอบว่า เราแยกออกระหว่างเรื่องความดีของคน จะไปเหมาว่าเลวหมดก็ไม่ได้ ดีหมดก็ไม่ได้ รวมทั้งไปเหมาว่าหัวหน้าพรรคเลว ลูกพรรคเลวหมดก็ทำไม่ได้ หัวหน้าพรรคถูก ลูกพรรคถูกก็ไม่ได้ ต้องแยกให้ออก แต่สองพรรครวมกันยังไม่เคยมีความคิดเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ก็มีจุดยืนชัดเจน ตนว่ายังไม่แน่ สองตัวประกอบคือหลักการ และองค์กรที่กำหนดเวลาตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด อีกส่วนหนึ่งคือความต้องการของผู้มีอำนาจ สามารถเปลี่ยนกติกาได้ แต่กติกาไม่สามารถเปลี่ยนผู้มีอำนาจ เป็นสิ่งที่ต้องดูต่อไป จะประเมินเขาเลยไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดูเปอร์เซ็นต์คนนิยมอาจจะล้น ถ้าเทียบรัฐบาลมาจากเลือกตั้งไม่ได้อย่างนี้ แต่พูดข้างเดียว จุดของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจยังวัดอะไรไม่ได้มากนัก จนกว่าจะหมดอำนาจ เช่น การตรวจสอบทุจริตตอนอยู่ในอำนาจอาจทำไม่ได้ ถ้าเตือนคือรัฐบาลอย่าประมาท รัฐบาลมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ปัญหาประเทศไทยอยู่ที่การปฏิบัติ

“ตือ” ยินดี “บิ๊กตู่” ไม่ต้องลับๆล่อๆ

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว และไม่ปิดทางการเป็นนายกฯคนนอกนั้น ถือเป็นเรื่องดี ไม่ต้องลับๆล่อๆแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะได้รู้ว่าสถานะของความเป็นนักการเมือง กับสถานะความเป็นหัวหน้า คสช.แตกต่างกันอย่างไร ถ้าว่ากันจริงๆ แล้วต้องรู้ทันทีตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกฯแล้วว่านั่นคือการประกาศตัวเป็นนักการเมืองแล้ว อย่างไร ก็ตามเมื่อตัดสินใจเป็นนักการเมืองเต็มตัวและจะมาเป็นนายกฯตามระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา หัวใจสำคัญต้องอดทนรับฟังเสียงประชาชน รับฟังเสียงนักการเมืองด้วยกัน รวมทั้งการอภิปราย ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำได้ ส่วนจะได้เสียงตอบรับจากประชาชนแค่ไหน อย่างไร คงตอบไม่ได้ จนกว่าการเลือกตั้งจะจบสิ้น

จี้หยุดใช้ ม.44 ชิงความได้เปรียบ

เมื่อถามว่า หลังประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว มองการใช้มาตรา 44 หลังจากนี้อย่างไร นายสมศักดิ์ตอบว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเข้ามาเป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การเคารพในกติกาเป็นเรื่องสำคัญ ทุกอย่างต้องมาตามกระบวนการ การประกาศเจตนารมณ์การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเป็นนายกฯที่มาจากกติการัฐธรรมนูญที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกหรือไม่อย่างไร แต่ต้องให้หัวใจความเป็นประชาธิปไตย คือให้ความเท่าเทียมกับทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงการใช้มาตรา 44 หรืออาจจะประกาศเป็นเจตนารมณ์ก็ได้ว่า ทันทีที่มีการปลดล็อกทางการเมืองและประกาศวันเลือกตั้งจะไม่ใช้มาตรา 44 เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ถึงแม้ท่านไม่ลงสมัคร แต่การใช้มาตรา 44 กับคนอื่นก็จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม

ก.ม.เลือกตั้ง ส.ส.ถึงมือ สนช. 18 ม.ค.

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่า สัปดาห์นี้ กมธ.จะพิจารณาทบทวนทั้ง 178 มาตราอีกครั้ง หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะส่งให้วิป สนช.ในวันที่ 16 ม.ค. เพื่อบรรจุเข้าสู่การประชุมสนช. วาระ 2-3 ในวันที่ 18 หรือ 19 ม.ค.นี้ กฎหมายฉบับนี้มีสมาชิก สนช.แปรญัตติ 4 ประเด็นคือ 1.เสนอให้ตัดเนื้อหาที่กำหนดให้คืนเงินผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต 10,000 บาท และแบบบัญชีรายชื่อ 5,000 บาท หากได้คะแนนร้อยละ 5 ขึ้นไป โดย กมธ.ส่วนใหญ่เห็นคล้อยตาม เพราะเป็นภาระยุ่งยากทางธุรการ 2.เสนอให้ตัดการแสดงบัญชีรายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ส่วนนี้ กมธ.เห็นว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาหากคงไว้ เพราะสรรพากรสามารถแสดงบัญชีย้อนหลังได้ถึง 5 ปี

ติดดาบ กกต.บุกค้นไม่มีหมายศาล

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า 3.เสนอให้เพิ่มมาตราขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ระหว่างการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถเข้าตรวจค้นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล หากมีการร้องเรียนกรณีไม่สุจริต เพราะหากไปดูกฎหมาย กกต.ที่ สนช.พิจารณาไปแล้วพบว่าได้ให้อำนาจ กกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้ว การตรวจค้นต้องใช้หมายศาล แต่ กมธ.บางส่วนมองว่า หากแก้ตามข้อเสนอนี้จะเป็นการให้อำนาจ กกต.มากเกินไป ดังนั้น ประเด็นนี้ยังไม่มีข้อยุติ 4.เสนอให้แก้ไขการสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพล หลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด แต่ กมธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาไปแล้วว่า การสำรวจความเห็นที่ทำกันทั่วไป โดยไม่มีอคติ สามารถทำได้เหมือนเดิม แต่โพลที่ไม่สุจริตไม่สามารถทำได้ ประเด็นนี้ผู้แปรญัตติจึงน่าจะพอใจ

ควบรวมท้องถิ่นไว้คุยหลังเลือกตั้ง

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นว่า ต้องรอดูว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อส่งให้ สนช.เมื่อใด เชื่อว่าใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะคงแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารและสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่น ที่กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเท่านั้น ส่วนตัวเห็นว่าการยุบหรือควบรวมส่วนท้องถิ่น แม้เป็นแนวคิดเชิงปฏิรูป แต่จะใช้เวลานาน เนื่องจากต้องสอบถามความคิดเห็นประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีรายละเอียดค่อนข้างมากในทางปฏิบัติ เช่น การโอนทรัพย์สิน ดังนั้น ตามหลักการแล้วจึงไม่น่าจะมีการยุบหรือควบรวมส่วนท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้ง โดยสามารถแยกออกจากกันแล้วทำคู่ขนานในภายหลัง สำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่นที่ถูกมาตรา 44 แขวนอยู่นั้น เชื่อว่า คสช.จะเคลียร์จุดนี้ให้จบก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะครบวาระตามที่ คสช.ต่ออายุให้รักษาการทั้งประเทศในเดือน พ.ค.นี้ โดยใครที่ตรวจสอบแล้วว่ามีมูลต้องดำเนินการต่อไป ส่วนใครไม่มีมูลต้องคืนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ให้เกิดความยุ่งยาก มาฟ้องร้องกันภายหลัง

สถ.ปลุกท้องถิ่นล้างบางทุจริต

ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการปฏิบัติราชการบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2561 รุ่นที่ 2 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด สถ. (ส่วนกลาง) 88 คน เข้าร่วมโครงการ นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีค่านิยมในการปฏิบัติงานที่มุ่งเพิ่มสมรรถนะ พัฒนาระบบราชการไทย ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม มีธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาทุจริตในวงราชการ รวมถึงบุคลากรในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ถูกร้องเรียนเช่นเดียวกัน จำเป็นต้องช่วยกัน ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดสิ้นไปจากสังคมไทยโดยเร็ว เพราะถือเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

จี้ ป.ป.ช.อายัดนาฬิกา “บิ๊กป้อม”

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 8 ม.ค. เวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เพื่อขอให้อายัดนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ทุกเรือนที่ปรากฏเป็นข่าวไว้ตรวจสอบ เนื่องจากมีข้อสงสัยไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 78 ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบที่มาหลักฐานการครอบครองไว้ก่อน แล้วจึงสอบพยานเอกสารหรือพยานบุคคล ความจริงเรื่องนี้ไม่สลับซับซ้อนอะไรเลย หากเทียบกับกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบนาฬิกาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ขายไปก่อนดำรงตำแหน่ง ครั้งนั้น ป.ป.ช.ตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นข่าวที่สนใจของสาธารณชน จึงจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงอยากให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตรในทำนองเดียวกัน วันนี้น่าจะสรุปข้อเท็จจริงได้แล้ว เพราะเมื่อ พล.อ.ประวิตรรับว่ามีนาฬิกาอยู่จริงตามที่เป็นข่าว แปลว่าข้อเท็จจริงมีมูลแล้ว ป.ป.ช.ต้องไต่สวนต่อไปว่ามีการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งไม่ควรเกิน 30 วันนับจากนี้ เพราะสอบมาแล้วกว่า 30 วัน ข้อเท็จจริงของนาฬิกาที่ปรากฏกว่าสิบเรือนนั้นเกินพอแล้ว หวังว่า ป.ป.ช.จะทำหน้าที่ตรงไปตรงมา

ดักคออย่าฟอกขาวให้ “บิ๊กตู่”

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอให้แก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้มากกว่า 3,000 บาทว่า ไม่อยากให้ ป.ป.ช.เชื่อแนวคิดการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐก้าวหน้าไปถึงขั้นรณรงค์ประกาศนโยบายไม่รับของขวัญปีใหม่จากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือนักธุรกิจ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการสร้างคอนเนกชั่นในทางที่ผิด จนภาคเอกชนเริ่มหันมาทำตามแล้ว แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะนำร่องผลักดันนโยบายไม่รับของขวัญเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับประกาศจะซื้อลูกสุนัขเป็นของขวัญให้เพื่อน ทั้งที่มูลค่าสูงเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต ไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวมีอภิสิทธิ์แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย จึงจะเรียกว่ามือสะอาดจริง ทั้งนี้ ถ้าหาก ป.ป.ช.เปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้ของขวัญเจ้าหน้าที่รัฐ อาจถูกโยงว่าช่วยฟอกขาวให้ผู้มีอำนาจได้

“ปานเทพ” หนุนแก้กฎ 3,000 บาท

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สนช. และอดีตประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้มากกว่า 3,000 บาทว่า ส่วนตัวเห็นด้วย ในอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยหารือถึงการแก้ไขประกาศดังกล่าวให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของค่าครองชีพในปัจจุบัน เพราะประกาศ ป.ป.ช.ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 อาจจะล้าสมัย และมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสนอให้แก้ไข จึงมีเหตุผลหาก ป.ป.ช.จะปรับตัวให้เข้ากับความจริงของสังคม ของบางอย่างตอนนี้มีราคาสูง บางทีผู้รับอาจไม่รู้ราคาที่แท้จริง จึงเป็นปัญหา อย่างเวลาไปประชุมต่างประเทศ ที่ต้องมอบหรือแลกเปลี่ยนของที่ระลึก บางชิ้นมีราคาสูง จะเลี่ยงไม่รับก็ไม่ได้ จึงต้องแจ้งให้หน่วยงานทราบและโอนของชิ้นนั้นให้หน่วยงาน เพื่อเป็นการแก้ปัญหา

เลขาฯ ป.ป.ช.แย้งเกณฑ์เดิมดีแล้ว

ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่เคยหารือในที่ประชุม ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝ่ายกฎหมาย ป.ป.ช.กำลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ต้องประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ทราบว่าเกณฑ์จำนวนมูลค่าการรับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกบรรจุอยู่ในมาตราใด ข้อเสนอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นความเห็นหนึ่งที่ต้องขอบคุณ แต่หลักการทำงานของ ป.ป.ช. เมื่อจะยกร่างกฎระเบียบหรือประกาศใดต้องรับฟังความเห็นหลายฝ่ายให้เกิดความรอบคอบ เรื่องเกณฑ์การรับของมีค่าของเจ้าหน้าที่รัฐมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การรับฟังความเห็นน่าจะเป็นทางออกดีที่สุด แต่ส่วนตัวมองว่าเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมก็ยังมีความเหมาะสมอยู่

อัยการลุยค้นทรัพย์แกนนำ พธม.

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 มีหนังสือเเจ้ง 13 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จำเลยคดีแพ่ง ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการนำผู้ชุมนุมบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเมื่อปี 2551 ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกว่า 522 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยว่า อัยการจะช่วยดำเนินการสืบทรัพย์โดยออกหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้น บัญชีเงินฝาก หรือที่ดิน เมื่อสืบทรัพย์เเล้วได้ความว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ใด จะเเจ้งให้ ทอท.เจ้าของเรื่องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ โดยทรัพย์ที่ยึดได้จะต้องนำมาขายทอดตลาด ทั้งนี้ หากชำระเเล้วยังไม่พออัยการจะดำเนินการตามหน้าที่ คือเเจ้งตัวความ ถ้า ทอท.มีหนังสือมาขอให้ฟ้องคดีล้มละลายต่อ สำนักงานอัยการสูงสุดก็มีกองคดีล้มละลายสำหรับฟ้องคดีล้มละลายต่อ และหากมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินสำนักงานอัยการฝ่ายการบังคับคดีต้องนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

ทนายตั้งแท่นฟ้องถ้ายึดทรัพย์มั่ว

ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เผยว่า แกนนำทั้ง 13 คน ไม่ได้ยอมรับสภาพการเป็นหนี้ แต่ด้วยขั้นตอนหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามกระบวนการโจทก์ได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งจดหมายไปหา 13 แกนนำแล้ว ต่อไปฝ่ายเจ้าหนี้จะเข้าไปติดตามตรวจสอบดูทรัพย์สินของจำเลยแต่ละคนว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาด ดังนั้น หน้าที่ของทนายความฝ่ายจำเลยคือตรวจสอบว่าในระหว่างการบังคับคดีนี้ ทรัพย์สินที่ถูกยึดไปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าเห็นว่าขัดต่อกฎหมายจะดำเนินการร้องศาลคัดค้านทันที

โพลชี้การเมืองไทยยังไม่พัฒนา

วันเดียวกันสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต รายงานผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง การคาดการณ์ของประชาชนต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปี 2561 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 1,230 คน สำหรับเรื่องการเมือง ร้อยละ 48.05 มองว่าจะเหมือนเดิม เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่นิ่ง นักการเมืองยังขัดแย้ง ร้อยละ 29.57 ระบุว่าจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลทำงานตามโรดแม็ป มีประสบการณ์มากขึ้น รู้ปัญหา มีทิศทางการทำงานชัดเจน ร้อยละ 22.44 ระบุว่าจะแย่ลง เพราะการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน ยังคงมีการทุจริต ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ร้อยละ 38.53 ระบุว่าจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลร่วมกับเอกชนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ร้อยละ 31.71 ระบุเหมือนเดิม เพราะค่าครองชีพยังสูง การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ ร้อยละ 29.76 บอกว่าจะแย่ลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจแก้ไขยาก ทั่วโลกเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่เรื่องสังคมไทย ร้อยละ 44.39 ระบุว่าเหมือนเดิม เพราะสังคมไทยยังมีปัญหาหลายเรื่องที่รอการแก้ไข เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 28.05 ระบุว่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือกัน อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ภาครัฐรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ร้อยละ 27.56 ระบุจะแย่ลง เพราะสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี คนขาดศีลธรรม

กห.ไม่ห้าม “เอกชัย” บุกป่วน “บิ๊กป้อม”

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมรับมือนายเอกชัย หงส์กังวาน ที่จะเดินทางมามอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ที่กระทรวงกลาโหมในวันที่ 8 ม.ค.ว่า เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเดินทางไปมอบของให้ใครก็ได้ ถ้าไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง โดยเรามีมาตรการดูแลตามปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับนายเอกชัยหรือไม่นั้น คงต้องหารือผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน ส่วนการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงกลาโหม เป็นไปตามปกติตามกฎหมายที่มีอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายเอกชัยเคยเดินทางไปขอพบ พล.อ.ประวิตรเพื่อมอบนาฬิกา ช่วงปลายปี 2560 ระหว่างที่ พล.อ.ประวิตรร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเข้าอวยพรและรับพรที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ รวมทั้งวันที่ 3 ม.ค.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยทั้งสองครั้ง นายเอกชัยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถไปส่งที่อนุสาวรีชัยสมรภูมิ

สธ.ยกเลิกคำสั่งห้ามชาร์จมือถือ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงนามประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ ผอ.โรงพยาบาลทั่วไป ผอ.สำนัก ผอ.กอง ผอ.ศูนย์ ผอ.สถาบัน ผอ.กลุ่มในสังกัดสป.สธ. เรื่องยกเลิกมาตรการป้องกันกรณีใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ลงวันที่ 29 ธ.ค.2560 ที่ระบุห้ามชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ในที่ทำงาน เนื่องจากสป.สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงเห็นควรให้มีการทบทวนเพื่อความเหมาะสม เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ ขอย้ำว่าที่มีการระบุว่าจะแถลงข่าวในวันที่ 8 ม.ค.นั้น ไม่เป็นความจริง