“สวนดุสิตโพล” เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนใหญ่เชื่อปี 61 'การเมือง-สังคมไทย' น่าจะเหมือนเดิม สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่นิ่ง นักการเมืองยังแตกแยก ไร้สามัคคี แต่เศรษฐกิจเชื่อว่าดีขึ้น
จากสถานการณ์บ้านเมืองในปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้สร้างความหนักใจให้กับประชาชนคนไทยไม่น้อย ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะแก้ไขได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐบาล ซึ่งในปี 2561 นี้ ประชาชนต่างก็มีความคาดหวังต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล และมีความคาดการณ์ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,230 คน ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม 2561 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ประชาชนคาดการณ์ว่า “การเมืองไทย” ในปี 2561 จะเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 น่าจะเหมือนเดิม 48.05% เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่นิ่ง นักการเมืองยังคงขัดแย้ง แตกแยก แตกความสามัคคี ฯลฯ อันดับ 2 น่าจะดีขึ้น 29.51% เพราะรัฐบาลทำงานตามโรดแม็ป มีประสบการณ์มากขึ้น รู้ปัญหาของบ้านเมือง มีทิศทางในการทำงานชัดเจน กระตุ้นให้ทุกกระทรวงเร่งทำผลงาน ฯลฯ อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 22.44% เพราะการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน ยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลยังถูกโจมตี มีข่าวเชิงลบ ฯลฯ
...
2. ประชาชนคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจไทย” ในปี 2561 จะเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 น่าจะดีขึ้น 38.53% เพราะรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตัวเลขการค้าการลงทุนส่งสัญญาณที่ดี ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสมากขึ้น เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลเร่งแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ฯลฯ อันดับ 2 น่าจะเหมือนเดิม 31.71% เพราะข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ต้องประคับประคอง การเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ฯลฯ อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 29.76% เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ แก้ไขได้ยาก ทั่วโลกเศรษฐกิจไม่ดี ประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้า ฯลฯ
3. ประชาชนคาดการณ์ว่า “สังคมไทย” ในปี 2561 จะเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 น่าจะเหมือนเดิม 44.39% เพราะ สังคมไทยยังมีปัญหาหลายเรื่องที่รอการแก้ไข เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด สังคมมีความเหลื่อมล้ำ ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ อันดับ 2 น่าจะดีขึ้น 28.05% เพราะ คนไทยมีน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปัน ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ภาครัฐมีการรณรงค์ กระตุ้นให้คนไทยรักและสามัคคี ทำให้สังคมน่าอยู่ ฯลฯ อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 27.56% เพราะจากข่าวสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ต่างคนต้องเอาตัวรอด คนขาดศีลธรรม แตกแยก หลงวัตถุ ฯลฯ