สามารถ โพสต์ รถไฟความเร็วสูงที่รอคอย หวั่น รัฐบาลแบกภาระขาดทุนหนัก แนะนำ เร่งทำ 4 ข้อ ให้เป็นรูปธรรม จะได้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อลบคำสบประมาท

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ธ.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “รถไฟความเร็วสูง ที่รอคอย” ใจความว่า หลังจากเลื่อนกำหนดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มาหลายครั้ง ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ผมดีใจ ที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ สามารถทำได้ตามที่ให้ความหวังไว้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่า จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ได้ แม้ผมจะเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยมากกว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ตาม แต่เมื่อ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ มีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับชาวไทยทั้งมวลให้ได้ เราก็ควรหาทางสนับสนุนให้การก่อสร้างประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นภาระปัญหาให้กับลูกหลานของเราในอนาคต

“ถึงเวลานี้ ความห่วงใยของผมในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เป็นรูปธรรมลดน้อยลงแล้ว แต่ผมยังคงมีความห่วงใยอย่างมากว่า ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมีผู้โดยสารน้อย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระการขาดทุนอย่างหนักเป็นเวลานาน ดังนั้น เราจึงควรหาทางทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการมาก และที่สำคัญ จะต้องหาทางทำให้โครงการนี้ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางตรง หรือรายได้จากค่าโดยสาร ทั้งนี้ เพื่อลดภาระการขาดทุนหรือมีกำไรในที่สุด จากข้อมูลของรัฐบาลพบว่าในช่วงแรกของการเปิดให้บริการคือในปี พ.ศ.2565 จะมีผู้โดยสารประมาณ 5,300 คนต่อวัน และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16,600 คนต่อวัน ในปี พ.ศ.2574 22,600 คนต่อวัน ในปี พ.ศ.2584 และ 26,800 คนต่อวัน ในปี พ.ศ.2594 หรือหลังจากเปิดให้บริการแล้วถึง 30 ปี ปริมาณผู้โดยสารขนาดนี้ถือว่าน้อยมาก ซึ่งรัฐบาลก็คงตระหนักดีว่าโครงการนี้จะขาดทุนหากมีรายได้จากค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว”

...

นายสามารถ ระบุต่อว่า ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใคร่ขอเสนอท่านนายกฯ ประยุทธ์ ดังนี้ 1. เร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะต้องให้จีนร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจะทำให้จีนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โครงการนี้ขาดทุน 2. เร่งต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ให้เชื่อมกับคุนหมิงของจีน ซึ่งขณะนี้จีนกำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากบ่อฮานของจีนเข้าสู่บ่อเต็นของลาว แล้ววิ่งผ่านนาเตย อุดมไชย หลวงพระบาง วังเวียง จนถึงเวียงจันทน์ เราก็จะได้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกับจีน หากจีนสามารถโน้มน้าวให้ชาวจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ได้วันละประมาณ 5,000 คน หรือปีละประมาณ 2 ล้านคน และหากชาวจีนเหล่านี้ใช้จ่ายเงินในประเทศไทย ประมาณ 50,000 บาทต่อคน เราก็จะมีเงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท ถือเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่มีมูลค่าสูงจากโครงการนี้

3. เร่งพัฒนาเมืองใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อกระตุ้นให้มีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงมากขึ้น เมืองใหม่เหล่านี้อาจประกอบด้วยเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สถาบันการศึกษา ศูนย์ราชการ แหล่งพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม เป็นต้น การพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมาจะทำให้หัวเมืองในปัจจุบันมีการขยายตัวขึ้น เมืองที่มีรถไฟความเร็วสูงจอดรับส่งผู้โดยสารก็จะเจริญขึ้นจนอาจมีสถานะเป็นเมืองระดับนานาประเทศ มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีการค้าขายมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เหล่านี้นับเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญของโครงการ 4. เร่งจัดตั้งองค์กรที่จะรับผิดชอบในการบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง ซึ่งองค์กรนี้จะต้องเร่งเตรียมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกับการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีปัญหาในการซ่อมบำรุงรักษา ทำให้รถไฟฟ้าเสียอยู่เป็นประจำ

ซึ่งหากท่านนายกฯ ประยุทธ์ ทำตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นได้ ผมมั่นใจว่า ท่านจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงที่สามารถลบคำสบประมาทของคนจำนวนมากที่บอกว่า รถไฟความเร็วสูงจะขาดทุนอย่างหนัก ทั้งหมดนี้ด้วยความห่วงใย ขอเป็นกำลังใจให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีครับ.