นายกฯ เปิดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" ยืนยันจะทำให้เสร็จจนถึงหนองคาย หนุนเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 ที่มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมในพิธี
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ดีใจยินดีและถือเป็นเกียรติที่ได้มาพบทุกคนในวันประวัติศาสตร์ของรถไฟไทย จึงขอขอบคุณคำกล่าวของนายหลี่เค่อเฉียง และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน และยืนยันว่าจะทำให้จบในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งรัฐบาลนี้สนับสนุนการเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ซึ่งการลงทุนจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ต้องไม่เป็นภาระกับประเทศ และต้องโปร่งใส และอย่าคิดถึงรายได้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการหรือที่เรียกว่าผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มองผลประโยชน์ทางอ้อมที่ตามมาจำนวนมาก โดยเฉพาะจะเกิดธุรกิจตลอดเส้นทางเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามเร่งรัดทุกอย่าง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ขออย่ามองเป็นเรื่องอื่น ทุกอย่างที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้นและไม่ได้เสร็จในวันเดียว ทุกหน่วยงานจึงต้องช่วยกัน ให้เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ก่อนเริ่มงานได้ชมการแสดงโขน หนุมานมาร่วมสร้างทางรถไฟกับมังกร ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากหนุมานตอนจองถนน ที่มีการจองถนนไปถึงนครลงกาเพื่อสู้กับยักษ์ แต่วันนี้เราเปลี่ยนใหม่มาสร้างทางรถไฟ โดยไม่ได้สร้างไปตีกับใคร แต่เพื่อยกระดับและสร้างความเชื่อมโยง
...
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขอถือโอกาสพูดกับชาวอีสาน เพราะโคราชถือเป็นบ้านของตน ยืนยันว่าวันนี้รัฐบาลจะดูแลและยกระดับความยากจนโดยเพิ่มรายได้ของคนไทยให้มากขึ้น โดยมีการสำรวจหาข้อมูลในพื้นที่ที่มีความยากจน เพื่อต้องการทราบว่าประชาชนอยากได้หรือต้องการอะไร เพราะรัฐบาลไม่อยากบังคับใครทั้งสิ้น จึงอยากให้ประชาชนได้เสนอความต้องการ ดังนั้นมองแค่เรื่องงบประมาณอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยประชาชนให้ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงว่าจะให้รัฐบาลทำอะไร ไม่ใช่เป็นปากเป็นเสียงว่าไม่ให้รัฐบาลทำอะไร ไม่เช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ จึงขอให้ฟังรัฐบาลด้วย โดยยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อทุกคน ซึ่งวันนี้ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง เรากำลังทำเรื่องที่ยาก จึงอย่าทำเรื่องยากให้ยากขึ้นไปอีก และเราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ในระยะเวลา 1-2 ปี ซึ่งตนจะทำให้ดีที่สุดสำหรับพวกเราทุกคน พร้อมกับกล่าวเป็นภาษาจีนว่า "จงซิน เซี่ยลี่ ซื่อซื่อ ฉุนหลี่" แปลว่า น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการของการรถไฟไทย พร้อมกล่าวกับเด็กนักเรียนที่มาต้อนรับว่า "ลุงทำให้พวกเรานะ เราต้องรีบโตรีบเรียนให้จบเพื่อหาเงินแล้วขึ้นรถไฟอนาคตข้างหน้าก็มาช่วยกันสร้างต่อ วันนี้ของลุงทำไว้ เราต้องพ้นจากความยากจน ขอให้เรียนหนังสือสำเร็จปลอดภัยทุกคน และนำเรื่องราวเหล่านี้ไปบอกกับพ่อแม่ด้วยว่านายกฯ ทำให้" จากนั้นเวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยยกมือทำสัญลักษณ์ไอเลิฟยู พร้อมกล่าวสั้นๆ ว่า "โชคดี กลับบ้านปลอดภัย"
สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงนี้จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road ของรัฐบาลจีน ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จะมีระยะทาง 252.3 กิโลเมตร และวงเงินลงทุนประมาณ 179,000 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 6 แห่ง คือ สถานีกลาง สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา และมีความเร็วอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางช่วงแรกที่เริ่มก่อสร้าง คือช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 430 ล้านบาท โดยมีทีมวิศวกรฝ่ายจีนมาดำเนินการทั้งหมด 15 คน และมีวิศวกรฝ่ายไทยเข้าร่วมเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 6 คน โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565
สำหรับช่วงแรกที่เปิดให้บริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 5,300 คนต่อวัน และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน โดยมีค่าโดยสารแรกเข้า 80 บาท และบวกด้วยอัตรา 1.8 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งราคาสูงสุดจากเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะอยู่ที่ 535 บาท อย่างไรก็ตามการรถไฟตั้งเป้ารับมอบแบบการก่อสร้างในส่วนที่เหลือระยะที่ 2-4 ไม่เกินกลางปีหน้า และจะเปิดประมูลในปี 2561 รวมถึงเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในปี 2566.